ศาสตราจารย์ ไป่ ชิ ลี (Prof. Pai-Chi Li ) อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และพัฒนาการประมงไทยด้วยระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้ธรรมชาติเป็นฐานในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่ส่งผลกระทบทุกด้านในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ กรมประมง ภายใต้โครงการ "Making NbCS in Aquaculture in Southeast Asia Monitoring More Gender Responsive: (GeNA Project) มุ่งพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และยังให้การส่งเสริมเพิ่มความสามารถทุกมิติทางเพศที่ไม่ได้หมายถึงเพศชายหรือเพศหญิง แต่รวมถึงความหลากหลายและบทบาทของแต่ละเพศในสังคม พัฒนาและต่อยอดศักยภาพของผู้คน สนับสนุนความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับทุกเพศสภาพอย่างเท่าเทียม ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (IDRC) ของแคนาดา โดยเริ่มดำเนินโครงการนำร่องใน 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องการเพาะเลี้ยงปลาในนาข้าว ซึ่งเป็นแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้แนวทางธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัย สร้างรายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมประมงไทย
ศาสตราจารย์ เคียวโกะ คุซากาเบะ (Professor Kyoko Kusakabe, Gender and Development Studies program) หัวหน้าสาขาวิชาเพศสภาพและการพัฒนา ภาควิชาความยั่งยืน สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า " AIT และ กรมประมง ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานในหลายโครงการ ซึ่ง "Making NbCS in Aquaculture in Southeast Asia Monitoring More Gender Responsive: (GeNA Project) เป็นโครงการที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งและผลักดันให้เกิดนวัตกรรม ความรู้ การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย นอกจากนี้โครงการ GeNA Project ยังให้การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในภาคอุตสาหกรรมการประมง ให้การสนับสนุนผู้หญิงมีบทบาทและส่วนร่วมด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยการยกระดับความรู้ความสามารถด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"
ด้าน นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า "กรมประมง หน่วยงานของรัฐสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่ทำการศึกษาค้นคว้า สำรวจ วิจัย วิเคราะห์ และทดลองด้านการประมง ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการประมงของไทยให้เจริญก้าวหน้า กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทุกมิติ กรมประมงจึงได้ทำความร่วมมือทางวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งความร่วมมือนี้ จะมุ่งเน้นยกระดับภาคการผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมประมงไทย และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดที่กำลังขยายตัว รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ระหว่างกัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรในอุตสาหกรรมการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยเพิ่มขึ้น สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากความร่วมมือนี้ไปปฏิบัติได้จริง เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางอาชีพ สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน"
โครงการ "Making NbCS in Aquaculture in Southeast Asia Monitoring More Gender Responsive: (GeNA Project) ยังสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ให้การส่งเสริม พัฒนา ยกระดับ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมประมงไทยระดับนานาชาติ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดโลกอีกด้วย
ที่มา: สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย