วว. พัฒนานวัตกรรมการนึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวฮางงอก ลดมลพิษทางอากาศ สร้างรายได้ให้ชุมชน

จันทร์ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๘ ๑๑:๒๗
"ข้าวฮางงอก" เป็นภูมิปัญญาชาวอีสานมาแต่ดั้งเดิม โดยเป็นข้าวที่เพาะงอกจากข้าวเปลือก มีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และมีกลิ่นหอมจากเปลือกมาเคลือบที่เมล็ดข้าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ข้าวฮางมีสารอาหารมากและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและสมดุล ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันเชื้อโรคหรือโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคได้ดี เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน ไขข้ออักเสบ โรคไต โรคเกี่ยวกับประสาทและสมอง ความจำเสื่อม การแก่เกินวัย โรคมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง หรือได้รับสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี สารเร่ง การเจริญเติบโต สารกันบูด สารสังเคราะห์ และอากาศที่เป็นพิษ
วว. พัฒนานวัตกรรมการนึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวฮางงอก ลดมลพิษทางอากาศ สร้างรายได้ให้ชุมชน

กรรมวิธีการทำข้าวฮางงอก เริ่มจากการนำเอาข้าวเปลือกมาแช่น้ำไว้ เพื่อกระตุ้นการงอกของข้าวเปลือก ทำให้เกิดการทำงานของสารเอนไซม์และสารอาหารต่างๆ เมื่อข้าวเปลือกเริ่มงอกจะผลิตสารอาหารชนิดหนึ่งขึ้นมา คือ สาร GABA (กาบา) ที่มีส่วนช่วยในเรื่องความจำ และเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แล้วจึงนำข้าวเปลือกที่งอกแล้วไปนึ่ง เพื่อหยุดกระบวกการงอก ทำให้สารอาหารที่เพิ่มขึ้นคงอยู่ในเมล็ดข้าว และคงคุณค่าทางโภชนาการให้คงไว้ แล้วนำข้าวเปลือกไปตากให้แห้ง และนำไปสีโดยเครื่องสีข้าวกะเทาะเปลือก

ทั้งนี้ "ขั้นตอนการนึ่งข้าวเปลือก" เป็นกรรมวิธีสำคัญในการผลิตข้าวฮาง ซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ในการนึ่งข้าวฮางงอกของชุมชน ประกอบด้วย เตาและไม้ฟืน ซึ่งวิธีนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการผลิต เนื่องจากมีความร้อนสูญเสียที่กระจายออกรอบเตา ทำให้ไม่สามารถควบคุมความร้อนและอุณหภูมิของเตาให้คงที่ จึงต้องใช้เวลานานในการนึ่งแต่ละครั้ง

นอกจากนี้ ระยะเวลาในการนึ่ง ยังขึ้นอยู่กับค่าความร้อนของไม้ฟืนแต่ละชนิด โดยค่าความร้อนของไม้ฟืนและถ่านไม้ (Heating Value) เฉลี่ยประมาณ 6,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม คาร์บอนคงที่ (Fixed carbon) ประมาณร้อยละ 60 สารระเหย (Volatile Matter) ประมาณร้อยละ 16 และเถ้า (Ash) ประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้ขึ้นกับความชื้นของไม้ (Moisture) โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ไม้ฟืนเปียกชื้น ทำให้ติดไฟยาก และใช้เวลานานมากขึ้นในการนึ่งข้าวฮางงอก ที่นอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานสูงแล้ว ยังมีปัญหาต่อเนื่องจาก ฝุ่น ควัน เขม่า และขี้เถ้า ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้ฟืน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานและชุมชนโดยรอบ

ดังนั้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีกระบวนการนึ่งข้าวฮางงอกที่ทันสมัย และใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพที่ให้ความร้อนสูงและลดมลภาวะทางอากาศ มาประยุกต์ใช้ในชุมชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาด้านการใช้ไม้ฟืนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตที่ก่อให้เกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน นวัตกรรมเทคโนโลยียังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวฮางงอก ลดขั้นตอนการผลิต ลดระยะเวลา ลดแรงงาน และมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพและร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน ลดความเครียดและความเหนื่อยล้าจาก ฝุ่น ควันที่เป็นมลพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชนให้สามารถผลิตข้าวฮางงอกเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นเพื่อจำหน่ายต่อไป

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักกลอัตโนมัติ(ศนย.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการนึ่งในการผลิตข้าวฮางงอกที่เกิดการสูญเสียพลังงานสูง จึงได้พัฒนาและออกแบบ "นวัตกรรมการนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวฮางงอก" และจัดสร้างอุปกรณ์ท่อนำไอน้ำแรงดันต่ำแยกทิศทางสำหรับใช้ในกระบวนการนึ่งข้าวฮางงอก

โดยการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว เป็นการปรับปรุงกระบวนการนึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยกระบวนการนึ่งแบบไอน้ำ (Steamer) โดยใช้แก๊สปิโตรเลียมเหลวหรือแก๊สแอลพีจี (LPG) เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีค่าความร้อน 11,700-11,900 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม อุณหภูมิเปลวไฟประมาณ 1,900-2,000 องศาเซลเซียส ทำให้มีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง สามารถควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ โดยแก๊สแอลพีจีมีค่าความร้อนมากกว่าฟืนประมาณ 3 เท่า อีกทั้งช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการผลิต ทำให้ประหยัดและลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงพลังงาน วัสดุที่ใช้ประกอบซึ่งต้องสัมผัสกับอาหาร เป็นสแตนเลสเกรดอาหาร (Food Grade) เพื่อให้เกิดความสะอาด มีความปลอดภัย อีกทั้งยังแข็งแรง คงทน สามารถทำความสะอาดและเก็บรักษาง่าย เพื่อยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตให้กับธุรกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปจำหน่ายข้าวฮางงอก

"นวัตกรรมการนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวฮางงอก" ที่ วว. พัฒนาสำเร็จ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 4 กลุ่ม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตข้าวฮางงอกในปริมาณสูง ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านห้วยไห ตำบลบ้านค้อ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม 2.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพมนต์บ้านต้องโพนสวาง ตำบลโพนทอง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม 3.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวตำบลน้ำผึ้ง (ข้าวสุข) ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และ 4.วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวกล้อง ตำบลโพนทองและตำบลบ้านแพง จังหวัดนครพนม

จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวพบว่า นวัตกรรมการผลิตข้าวฮางงอกด้วยระบบนึ่งแบบไอน้ำ (Steamer) โดยใช้ก๊าซแอลพีจีสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวฮางงอกได้ ดังนี้

1) กระบวนการผลิตข้าวฮางงอกมีการควบคุมความร้อนได้คงที่มากขึ้น

2) ต้นทุนด้านพลังงานลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ จาก 1.5 บาท/กิโลกรัมข้าวฮาง เหลือ 1.2 บาท/กิโลกรัมข้าวฮาง

3) ต้นทุนด้านพลังงานแรงงานลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ จากที่ใช้แรงงานในการผลิต 4 คน ลดเหลือใช้แรงงานเพียง 2 คน

4) ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 450 กิโลกรัมต่อวัน

5) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหลังจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้สามารถผลิตได้ถึง 600 กิโลกรัมต่อวัน และสามารถเพิ่มรายได้ 100,000 -200,000 บาท แล้วแต่กำลังการผลิตของแต่ละชุมชน

6) ลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากกระบวนการผลิต สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

วว. ได้จดอนุสิทธิบัตรอุปกรณ์ท่อนำไอน้ำแรงดันต่ำแยกทิศทางสำหรับใช้ในกระบวนการนึ่งข้าวฮางแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมขยายผลสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เป็นทางเลือกในการแปรรูปข้าวเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้เพิ่ม พร้อมมุ่งเป้าถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลไปในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวฮางงอก พร้อมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสาเหตุ/ปัจจัย/การแก้ไข มลภาวะทางอากาศจากกระบวนการผลิตทางการเกษตร อันจะนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว. ติดต่อ ได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า "วว. JUMP"

ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๒ สธ. - ภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีสุขภาวะที่ดี
๑๖:๓๓ BeNice ปล่อยไอเท็มล่าสุด! รับซัมเมอร์ BeNice Antibac Shower Cream สูตรใหม่ล่าสุด Active Shield พลังการปกป้องขั้นสุด อาบสะอาด สดชื่นตลอดวัน
๑๖:๐๐ กลุ่มเซ็นทรัล เตรียมเปิดตัว 'deCentral' ศูนย์กลางศิลปะใหม่แห่งเอเชีย พร้อมโครงการทุนสนับสนุนการผลิตผลงานศิลปะเพื่อศิลปินไทย
๑๖:๓๐ A5 ยืนยันทุกโครงการปลอดภัย ไร้ผลกระทบแผ่นดินไหว เสริมมาตรการดูแล ยกระดับความปลอดภัย - คุณภาพชีวิตลูกบ้าน
๑๕:๕๐ เป๊ปซี่(R) ประกาศรางวัล สุดยอดร้านอาหารเป๊ปซี่มิตรชวนกินแห่งปี 2025 ครั้งแรก เผยรายชื่อ 60 สุดยอดร้านเด็ดทั่วไทย การันตีความอร่อยโดยมิตรที่รู้จริง ในงาน #GrabThumbsUp Awards
๑๕:๕๙ ดีอี - ไปรษณีย์ไทย หนุนระบบขนส่งคุณภาพ ชวนเกษตรกรใช้บริการ EMS ส่งด่วนผลไม้ พร้อมอัดหลากมาตรการช่วย เสริมศักยภาพการกระจายสินค้าเกษตร
๑๕:๐๘ วิธีสังเกตยาหมดอายุ มีอะไรบ้าง ยาแบบไหนไม่ควรทานต่อแล้ว
๑๕:๓๙ ฉลองเทศกาลอีสเตอร์ กับกิจกรรมพิเศษ ตลอดเดือนเมษายนนี้ ที่ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
๑๕:๒๒ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชวนผู้ประกอบการไทยสร้างร้านค้าออนไลน์ เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจแบบยั่งยืน
๑๕:๐๖ วว. คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมการสื่อสารสร้างสรรค์ Commu Max Competition