โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก…ภัยร้ายที่อาจมองข้าม รู้ทันสัญญาณอันตราย! ก่อนสายเกินแก้

อังคาร ๐๑ เมษายน ๒๕๖๘ ๐๘:๕๔
"โรคลิ้นหัวใจ" นับเป็นปัญหาสำคัญที่สัมพันธ์กับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุและความเสื่อมของลิ้นหัวใจตามวัย ทำให้โรคนี้กลายเป็นภัยคุกคามสุขภาพที่สำคัญ สำหรับประเทศไทยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย โดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน ซึ่งโรคลิ้นหัวใจก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิต นอกจากนี้ข้อมูลทางการแพทย์บ่งชี้ว่าอุบัติการณ์ของโรคลิ้นหัวใจ โดยเฉพาะ "โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ" เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยพบมากขึ้นในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้น ลิ้นหัวใจเอออร์ติกก็อาจเสื่อมสภาพลงตามธรรมชาติ เกิดการสะสมของแคลเซียมที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้น แข็งขึ้น และเปิดได้ไม่เต็มที่ เลือดไหลผ่านได้น้อยลง
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกภัยร้ายที่อาจมองข้าม รู้ทันสัญญาณอันตราย! ก่อนสายเกินแก้

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นวันรณรงค์โรคลิ้นหัวใจ (Heart Valve Disease Awareness Day) ทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายและผลกระทบของโรคดังกล่าว รวมถึงส่งเสริมการวินิจฉัยและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากขึ้น การให้ความรู้และการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคลิ้นหัวใจได้อย่างมีนัยสำคัญ

ผศ.นพ.ชนาพงษ์ กิตยารักษ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Valve Stenosis) คือภาวะที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติก ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบแคบลง ลิ้นหัวใจเปิดได้ไม่เต็มที่ การไหลเวียนของเลือดก็จะถูกขัดขวาง ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และมีปริมาณเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการต่างๆ เช่น เหนื่อยง่าย หน้ามืดเป็นลม มีอาการใจสั่นหรือเจ็บหน้าอก ข้อเท้า เท้าบวม และหัวใจเต้นผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เพราะบางอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ เช่น โรคปอด โรคเส้นเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคอ้วน หลายคนคิดว่าอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ คนทำงานหนัก หรือผู้ที่มีความเครียด ทำให้ไม่ได้สงสัยว่าเป็นสัญญาณอันตราย เกิดความเข้าใจผิดและไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ฉะนั้นไม่ควรมองข้าม หากสงสัยควรรีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใกล้ตัว ซึ่งการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลิ้นหัวใจจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจร่างกาย การฟังเสียงหัวใจ การเอกซเรย์ทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) สำหรับการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และความรุนแรงของโรค ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบมาก การรักษาหลักคือการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก (Surgical Aortic Valve Replacement - SAVR) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย มีการใช้มาอย่างยาวนานมากกว่า 40 ปีในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่สามารถผ่าตัดแบบเปิดได้ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาทางเลือกอื่น เช่น การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (Transcatheter Aortic Valve Replacement - TAVR)

ผศ.นพ.ชนาพงษ์ กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แพทย์จะมีการพิจารณาในการเลือกชนิดของลิ้นหัวใจเทียมที่เหมาะสมสำหรับที่จะใส่ทดแทนลิ้นหัวใจเดิม ซึ่งจะให้เลือกด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ 1. ลิ้นหัวใจชนิดโลหะ (Mechanical valve) และ 2. ลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อ (Tissue valve) ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป โดยจะพิจารณาเปลี่ยนลิ้นหัวใจตามมาตรฐานสากล เช่น สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา และวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจแห่งอเมริกา (AHA/ACC Guideline)

  1. 'ลิ้นหัวใจชนิดโลหะ' มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า อาจใช้งานได้ตลอดชีวิตโดยที่ไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต และต้องรับการตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลิ้นหัวใจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การรับประทานยาละลายลิ่มเลือดต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของยาละลายลิ่มเลือด และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะเลือดออก เช่น การปีนหน้าผาหรือการปั่นจักรยานเสือภูเขา สำหรับผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ การเลือกประเภทของลิ้นหัวใจเทียมมีความสำคัญมาก เนื่องจากการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ รวมถึงความผิดปกติของทารกตั้งแต่กำเนิด การแท้งบุตร และภาวะเลือดออกในระหว่างการคลอด
  2. 'ลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อ' ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เนื้อเยื่อมีความใกล้เคียงกับลิ้นหัวใจธรรมชาติ มีชนิดที่ทำจากเยื่อบุหุ้มหัวใจวัว (Bovine pericardium bioprosthetic valve) และลิ้นหัวใจหมู (Porcine bioprosthetic valve) โดยหลังการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อ ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นลิ้นหัวใจชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับประทานยาตลอดชีวิต ผู้ที่ต้องการมีบุตร ผู้ที่เดินทางลำบากหรืออยู่ไกลโรงพยาบาล ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ หรือผู้ที่ทำงานที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและเลือดออกง่าย ข้อพึงตระหนักคือ อายุการใช้งานชนิดเนื้อเยื่ออาจมีความเสื่อม ทำให้ผู้ป่วยอาจมีโอกาสที่จะเข้ารับการรักษาซ้ำ ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อรุ่นใหม่ที่สามารถชะลอการเกิดแคลเซียมเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น โดยมีงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาในระดับโลกรองรับ

ผศ.นพ.ชนาพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แพทย์จะใช้กระบวนการตัดสินใจร่วมกัน โดยพิจารณาตามสภาพของผู้ป่วย โดยอิงตามแนวทางตามมาตรฐาน ซึ่งจะประเมินสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายก่อนการผ่าตัด และร่วมกันกำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ความรุนแรงของโรค อายุ สุขภาพโดยรวม และความเสี่ยงในการผ่าตัด และกายวิภาคของหัวใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้ารับการรักษาต้องฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่ายกายและหัวใจตามความเหมาะสมและพื้นฐานสุขภาพของผู้ป่วย โดยเริ่มจากการทำกิจกรรมเบาๆ จากนั้นผู้ป่วยจะค่อยๆ กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกครั้ง

ที่มา: ไอคลิก คอมมิวนิเคชั่นส์

โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกภัยร้ายที่อาจมองข้าม รู้ทันสัญญาณอันตราย! ก่อนสายเกินแก้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๒๔ แจกจริง! แบรนด์ซุปไก่สกัดส่งมอบรถเทสล่า มูลค่า 1.649 ล้านบาท ให้ผู้โชคดี ในแคมเปญ ดื่มแบรนด์ สแกนเลขในขวด ปี
๑๓:๕๐ GFC ตอบโจทย์ทุกความปลอดภัยเรื่องอาคาร - ถังแช่แข็งตัวอ่อน เปิดให้บริการสำหรับผู้มีบุตรยากตามปกติครบ 3
๑๓:๕๗ KJL ลุยภาคใต้! จัดใหญ่สัมมนา 'รวมพลคนไฟฟ้า ON TOUR' ที่ภูเก็ต
๑๒:๐๐ แว่นท็อปเจริญ จับมือ กรมกำลังพลทหารบก แนะแนวการศึกษาและอาชีพ สร้างโอกาสแก่ทหารกองประจำการและครอบครัว
๑๒:๒๐ AnyMind Group คว้ารางวัล Gold ในงาน Martech Innovation Awards 2025
๑๒:๔๗ โชว์พลังดีไซน์ไทยในงาน STYLE Bangkok 2025 รวมแบรนด์ดาวรุ่งจาก Talent Thai และ Designers' Room ที่คุณไม่ควรพลาด
๑๑:๔๓ ธนาคารกสิกรไทย จัดสัมมนาใหญ่ K WEALTH Forum: เจาะลึก 5 ปัจจัยเปลี่ยนเกมการลงทุนโลก
๑๑:๐๐ PSP ปิดดีลทุ่ม 409.5 ลบ. ถือหุ้นใน รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง (RE) ปักหมุดธุรกิจสู่ศูนย์กลางรีไซเคิลสารเคมีแห่งภูมิภาค
๑๑:๑๐ กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดรับสมัครสอบชิงทุน CIMB ASEAN Scholarship 2025 ทุนเรียนต่อปริญญาตรี - ปริญญาโท พร้อมโอกาสร่วมงานกับกลุ่มซีไอเอ็มบี
๑๑:๐๐ ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค เปิดพิกัดจุดสรงน้ำพระ เสริมสิริมงคลกับเทศกาล สงกรานต์อิ่มบุญ