วานนี้ (31 มีนาคม 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และบริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง จำกัด จัดงานเสวนา "Future of Creator Economy: การขับเคลื่อนนโยบายและเปิดโครงการ Thai Creator for Real Business Workshop" เพื่อเปิดตัวโครงการวิจัยและพัฒนาแนวนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจครีเอเตอร์ของไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจครีเอเตอร์ให้เติบโตอย่างเป็นระบบผ่านการออกแบบนโยบาย พัฒนาทักษะและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพของครีเอเตอร์อย่างยั่งยืน จัดขึ้น ณ โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ผ่านการนำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การลงทุน การจ้างงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า และในปัจจุบันเศรษฐกิจครีเอเตอร์ (Creator Economy) นอกจากจะเป็นกลไกสำคัญที่จะยกระดับศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อจีดีพีและการจ้างงาน จากผลสำรวจพบว่าธุรกิจคอนเทนต์สร้างรายได้ให้คนไทย เกือบ 9 ล้านคน ทั้งในอาชีพหลักและอาชีพเสริม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 45,000 ล้านบาท ด้วยการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ผู้สร้างคอนเทนต์กลายเป็นแรงงานสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ผ่านการผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ เปิดโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ ที่มีการทำงานในรูปแบบที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดี (ด้านวิชาการ) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เศรษฐกิจครีเอเตอร์ไม่ใช่แค่การผลิตคอนเทนต์หรือการหารายได้ของครีเอเตอร์ระดับปัจเจก แต่เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องการการออกแบบเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของการพัฒนาเนื้อหา ไปจนถึงปลายน้ำของการสร้างรายได้ และทรัพย์สินทางปัญญา เราจึงออกแบบโครงการนี้ให้ศึกษาทั้งห่วงโซ่คุณค่า และ ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง เพื่อระบุช่องว่างเชิงนโยบายและหาแนวทางสนับสนุนที่เหมาะสมกับบริบทไทย การวิจัยเชิงระบบจะดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ครีเอเตอร์ไทยไม่เพียงเติบโตในฐานะผู้ผลิตเนื้อหา แต่สามารถสร้างธุรกิจ สร้างอาชีพ และมีบทบาทในเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย และขับเคลื่อนด้วยศักยภาพของครีเอเตอร์ นักสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
ด้าน รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวในเวทีเสวนาว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะเสพสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นด้านศิลปะ (Art) มากกว่าวิทยาศาสตร์ (Science) เนื่องจากเข้าถึงง่ายและอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่คอนเทนต์ด้านวิทยาศาสตร์ก็มีความสำคัญและเป็นเรื่องที่ท้าทาย เช่น การให้ความรู้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งสะท้อนโอกาสในการผสมผสานศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ให้ทั้งความรู้ ประโยชน์ทางธุรกิจ และอยู่ในกรอบจริยธรรมที่เหมาะสม นอกจากนี้ การดูแล Creator Economy ต้องมองทั้ง "ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง" ตั้งแต่การจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ทีมหลังบ้านมืออาชีพ กรอบการวิจัยที่ชัดเจน ไปจนถึงการวางกรอบคุณธรรมจริยธรรมของการผลิตคอนเทนต์
สอดคล้องกับ นายวรพจน์ ประสานพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนากลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. มีบทบาทในการวางระบบกลาง ลดต้นทุน และเสริมสร้างความมั่นคงให้อาชีพใหม่อย่างครีเอเตอร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จริง โดย สสว.พิจารณาให้การส่งเสริม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ประกอบการและประชาชนเป็นหลัก จึงพยายามปูพื้นฐานผู้ประกอบการทุกคนเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
ขณะที่ นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นบทบาทของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ขยายตัวจากผู้ผลิตคอนเทนต์บนโลกออนไลน์สู่การเป็นผู้ประกอบการสื่อ เป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ และแรงขับเคลื่อนสำคัญของแบรนด์ สังคม และวัฒนธรรม เราเชื่อว่า "คอนเทนต์ครีเอเตอร์" ไม่ได้เป็นเพียงอาชีพทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็น "Creative Workforce" ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล หากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ และยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการพัฒนาธุรกิจ สร้างรายได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน
นายขจร เจียรนัยพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ The Zero Publishing กล่าวเสริมว่า จากการเติบโตที่ก้าวกระโดดและการผลักดันวงการครีเอเตอร์ไทยอย่างต่อเนื่องของ RAiNMaker พบว่าสิ่งที่สำคัญในช่วงเวลานี้ คือการรวมกลุ่มเพื่อกำหนดแนวทาง ผลักดันนโยบาย รวมถึงการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนให้มากขึ้น เพื่อให้วงการครีเอเตอร์ไทยได้มีระบบนิเวศที่แข็งแรง ไม่แพ้วงการอื่น ๆ
นางสาวรษิกา พาณีวงศ์ เจ้าของช่อง "Soft Raziqaa" กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นครีเอเตอร์ที่ยืนระยะได้อย่างยาวนาน และทำเป็นธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง มองว่า ครีเอเตอร์ ต้องมีทักษะในการปรับตัว มีวินัย มีความกล้าลองผิดลองถูก และมีความยืดหยุ่นสูง เพราะทุกการทดลองอาจจะสำเร็จหรือล้มเหลว นอกจากนี้ การมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการสำคัญมาก เพราะหากทำงานแค่ในฐานะคนสร้างคอนเทนต์ เราอาจจะทนเจ็บได้ไม่มากเท่ากับทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และจะหาแผนเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร
ทั้งนี้ ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า กิจกรรมอบรมนี้จะจัดขึ้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น (31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2568) พิษณุโลก (7 - 8 มิถุนายน 2568) และกรุงเทพมหานคร (14 - 15 มิถุนายน 2568) โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมเพียง 120 คน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 30 เมษายน 2568 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่: https://forms.gle/YH516aSmF3PkFAS56
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
- RAiNMaker: com/rainmakerth
- Tellscore: com/Tellscore
- คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ: com/commartschulaofficial
ที่มา: สอวช.