เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 กรมอนามัย นำโดย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย และทีม SEhRT ได้รับการร้องขอให้ลงพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกับอาคารตึกถล่มในระยะ 500 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติภารกิจของทีมเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยทำการรื้อถอนอาคาร และประชาชนที่อาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยมีการตรวจสุขภาพและตรวจวัดมลพิษอากาศที่อาจส่งผลต่อสุขภาพประชาชน อาทิ ฝุ่นละออง สารโลหะหนักที่ปนเปื้อนในอากาศและน้ำ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทีม SEhRT กรมอนามัย ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ มีการประเมินคุณภาพอากาศภายในศูนย์พักพิงชั่วคราว เช่น ฝุ่นละออง ความหนาแน่นของการพักอาศัย การระบายอากาศ รวมทั้งการจัดการด้านสุขาภิบาลทั่วไป เช่น ห้องน้ำห้องส้วม ระบบน้ำใช้ ซึ่งจากข้อมูลผลการตรวจประเมินพบว่า ระดับฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 ในศูนย์พักพิงชั่วคราว อยู่ในระดับปานกลาง ยังไม่มีผลกระทบต่อประชาชนสำหรับพื้นที่อาศัย พบว่า มีการใช้ระบบปรับอากาศเพื่อลดความร้อน ซึ่งมีการระบายอากาศที่ดีแสดงได้จากค่าคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับต่ำกว่า 500 ppm ส่วนน้ำใช้ มีการตรวจวัดค่าคลอรีนอิสระคงเหลือแล้วอยู่ในช่วง 0.2 ถึง 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค ห้องน้ำห้องส้วมมีความเพียงพอ ปลอดภัย แต่ยังขาดอุปกรณ์ล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำ เช่น สบู่ เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ดูแลศูนย์พักพิงชั่วคราวจัดหามาเพิ่มเติมแล้ว ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าค่าฝุ่นในศูนย์พักพิงชั่วคราว จะไม่เกินค่าเฝ้าระวังที่กำหนด แต่ประชาชนก็อาจจะได้รับความเสี่ยงจากฝุ่นในบรรยากาศที่มีสูงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอาจปนเปื้อนเข้ามาภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวดังกล่าว จึงแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากป้องกันฝุ่นตลอดเวลา เพื่อป้องกันความเสี่ยงของตนเองและคนในครอบครัว
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ให้รายละเอียดว่า ไม่เพียงแค่การตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคารของศูนย์พักพิงชั่วคราวที่อยู่ใกล้กับจุดที่มีการรื้อถอนอาคารที่ถล่มแล้ว ทีม SEhRT กรมอนามัยได้มีทำการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศในบริเวณสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ขุด เจาะอาคารเพื่อประเมินความเสี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสกับฝุ่นละออง เบื้องต้นได้มีการติดตั้งเครื่องเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อวิเคราะห์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการวิเคราะห์หาสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนมาในฝุ่นและแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีการขุด เจาะอาคาร ซึ่งผลการตรวจวัดต้องจะผ่านการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของสารพิษต่าง ๆ โดยผลจะสามารถแสดงได้ภายใน 7 วันทำการ ดังนั้นในช่วงเวลานี้ กรมอนามัย จึงได้สนับสนุนหน้ากาก N95 ให้กับทีมเจ้าหน้าที่สำหรับการปฏิบัติการที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในเบื้องต้นก่อน
ทั้งนี้ กรมอนามัยเห็นถึงความเสี่ยงทางสุขภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำหน้าที่ในการขุด เจาะอาคารที่พังถล่มรวมถึงประชาชนในพื้นที่อย่างมาก จึงขอให้เจ้าหน้าที่และประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายในพื้นที่ในขณะนี้ เบื้องต้นแนะนำให้ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ส่วนประชาชนพื้นที่โดยรอบสามารถเลือกใช้หน้ากากอนามัย ก็สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้สูงสุดถึง 70-80 % ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองและมีการเฝ้าระวังสถานการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ของตนเองที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง และเตรียมพร้อมเอาตัวรอดในช่วงของการเกิดภัยพิบัติดังกล่าวได้อย่างปลอดภัยต่อไป
ที่มา: กรมอนามัย