แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อาจเกิดอันตราย หรือเหตุฉุกเฉินที่ส่งผลต่อสุขภาพ เกิดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้ กรมอนามัย จึงขอย้ำ 6 วิธี ปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในช่วงเทศกาล ดังนี้ 1) ปฏิบัติตนตามมาตรการการจัดงานในพื้นที่อย่างเคร่งครัด 2) สังเกตทางเข้า - ออก หรือทางหนีไฟ เมื่อเข้าไปสถานที่จัดงาน และเตรียมพร้อมอพยพตลอดเวลา เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน 3) หากจำนวนคนมากเกินไป หรือมีความแออัด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง4) หากมีสัญญาณอันตราย เช่น ควันไฟ เพลิงไหม้ แก๊สรั่ว ให้รีบออกจากพื้นที่และอพยพไปยังจุดปลอดภัยทันที 5) หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำที่ไม่สะอาดหรือฉีดน้ำบนถนนและพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และ 6) เลือกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เลือกกินน้ำแข็งสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันโรคท้องเสียหรือท้องร่วงจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการ ร้านจำหน่ายอาหาร หรือผู้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ ขอให้เตรียมความพร้อมและจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย อนามัยสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ โดยให้จำกัดปริมาณประชาชนในการเข้าพื้นที่ สถานที่ที่เป็นพื้นที่ปิด ควรมีประตู หน้าต่าง หรือพัดลมเพื่อระบายอากาศ จัดให้มีป้ายสัญลักษณ์ทางออก หรือทางหนีไฟที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัยในพื้นที่จัดงานเทศกาล สำหรับสนับสนุนให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ด้าน นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ของประเทศไทย แบ่งระดับความรุนแรงต่อสุขภาพเป็น 4 ระดับ คือ ระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ระดับเตือนภัย (สีเหลือง) ระดับอันตราย (สีส้ม) และระดับอันตรายมาก (สีแดง) ซึ่งจากการคาดการณ์ค่าดัชนีความร้อน ตั้งแต่วันที่ 5 - 14 มีนาคม 2568 พบว่ามีค่าดัชนีความร้อนอยู่ที่ 42.0 - 51.9 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในระดับอันตราย (สีส้ม) โดยเฉพาะเดือนเมษายนเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด บางวันมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ออกไปเที่ยวสงกรานต์ จากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับอุณหภูมิ ให้สังเกตตนเอง หากมีผื่น ตะคริว รู้สึกเพลียแดด อาจเสี่ยงเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ กรมอนามัย จึงขอประชาชนที่เดินทางไปท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อบางเบา และระบายความร้อนได้ดีควรพักเข้าในที่ร่มเป็นระยะๆ ดื่มน้ำให้บ่อยและมากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์หรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีผิวหนังร้อนแดง ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน รวมทั้งความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป ตอบสนองช้า พูดจาสับสน กระวนกระวาย มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ก้าวร้าวประสาทหลอน ซึมลง เป็นลม หมดสติให้รีบปฐมพยาบาล โดยผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว และนำรีบส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669 ช่วยเหลือต่อไป
ที่มา: กรมอนามัย