ดร.วรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุนพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศและพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้พร้อมในการยกระดับศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ระดับสากลซึ่งอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญ ที่ส่งผลเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการสร้างรายได้และการจ้างงาน โดยปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีมูลค่าสร้างรายได้ประมาณ 3.9 แสนล้านบาท และมีการจ้างงานถึง 7.5 แสนคน ทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ และค้าปลีก รวมถึงการบริการออกแบบและโฆษณา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและการขยายตัวของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในระดับประเทศ
จากแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแส "สายมู" ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องโชคลางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเริ่มมีการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอย่างเห็นได้ชัด การนำความเชื่อเหล่านี้มาผสมผสานกับแฟชั่นจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับกลายเป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีแนวทางการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยการ "สร้างสรรค์และต่อยอด" ให้เกิดเสน่ห์ คุณค่า และเพิ่มมูลค่า "โน้มน้าว" ให้เกิดการยอมรับ เปิดใจ และต้องการ "เผยแพร่" ให้เป็นที่รู้จัก ภายใต้นโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" จึงได้ดำเนิน "กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นสายมูมงคลเชื่อมโยงซอฟต์พาวเวอร์ไทย (Faith Fashion)" ภายใต้ โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้มีองค์ความรู้และสามารถสร้างเอกลักษณ์ความหมายทางศาสนา ใช้วัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา เชื่อมโยงพัฒนาแบรนด์สินค้าแฟชั่นสายมู สร้างมูลค่าที่สูงขึ้น พร้อมต่อยอดให้สามารถจำหน่ายได้จริงในเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือระหว่างกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่
สำหรับการดำเนินงานมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ที่จดทะเบียนการค้าหรือจดทะเบียนนิติบุคคล ใน 4 สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่นเป้าหมาย ได้แก่ 1.เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายไทย (Apparel) 2.อัญมณีและเครื่องประดับไทย (Jewely) 3.หัตถอุตสาหกรรมไทย (Craft) เช่น ถัก สาน ทอ ปั้น และ 4.เครื่องสำอางและความงาม (Beauty) โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม 101 ราย และคัดเลือกเหลือ 50 รายจากทั่วประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม จะได้รับองค์ความรู้จากการอบรม และสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวขาญ อย่างเข้มข้น รวมทั้งกิจกรรมศึกษาดูงาน เพื่อนำแรงบันดาลใจต่อยอดสู่พัฒนาสร้างสรรค์แบรนด์สินค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายสายมูมงคล อาทิ แฟชั่นสายบุญในช่วงเทศกาล แฟชั่นสายมูในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย หรือการใช้หลักฮวยจุ้ยมาสร้างสรรค์งานออกแบบ งานหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น สร้างมูลค่าตอบโจทย์ทั้งในด้านจิตใจและความต้องการผู้บริโภคแฟชั่น รวมถึงส่งเสริมช่องทางการตลาด เพื่อให้สินค้าแฟชั่นสายมูมงคลสามารถขยายตัว ตั้งเป้าสร้างรายได้และยอดขายผู้ประกอบการหลังเข้าร่วมโครงการ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าไทย สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ให้เติบโตได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ก้าวไกลไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ที่มา: สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ