แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหว ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่มีระดับความรุนแรง 8.2 ความลึก10 กิโลเมตร ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายพื้นที่ มีประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง สถานการณ์ดังกล่าวนั้น ยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ประเทศไทย จำเป็นต้องเรียนรู้และตระหนักว่าปัญหาสาธารณภัย ภัยพิบัติ และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข มีหลายรูปแบบ ทั้งปัญหาโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ อุทกภัย ภัยร้อน ภัยแล้ง ไฟไหม้ หมอกควัน อุบัติภัยสารเคมีรั่วไหล รวมทั้ง ภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่การพยากรณ์ หรือ แจ้งเตือนล่วงหน้ายังไม่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่สิ่งที่สามารถทำได้ คือ การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ตั้งแต่ระยะก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ เกี่ยวกับการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดถึง ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัย มีภารกิจสำคัญในการอภิบาลระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพ ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งต่ออนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกด้านที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กรณีแผ่นดินไหว เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเตรียมการรองรับภัยพิบัติในระดับพื้นที่ จาก รศ.ดร.บุณยฤทธิ์ ปัญญาภิญโญผล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านความเสี่ยงด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผศ.ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี แนวทางการประเมินและป้องกันความเสี่ยงสุขภาพจากเหตุแผ่นดินไหว คุณธิติภัทร รัตนวราห กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนวทางการประเมินและตรวจสอบระบบสาธารณูปโภคอาคารสาธารณะ และคุณพูลศรี ศรีเข้ม เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เรื่อง ระบบการเตรียมการและการบริหารจัดการรองรับสาธารณภัยตามบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คุณภิญญาพัชญ์ จุลสุข ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อเกิดประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้อง และคาดหวังที่จะนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยปกป้องสุขภาพ และลดผลกระทบได้อย่างทันท่วงที หรือฟื้นคืนสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 ผู้ทีสนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ที่มา: กรมอนามัย