แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำประปาที่ใช้ในการบริโภคอย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าน้ำประปาที่ส่งจ่ายถึงบ้านเรือนมีความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค และสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาที่ใช้สำหรับการบริโภค โดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และผ่านการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำประปาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และนำข้อมูลดังกล่าวมาสังเคราะห์เพื่อให้คำแนะนำแก่หน่วยงานผู้ผลิตน้ำประปาในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน รวมทั้ง ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้น้ำประปาอย่างถูกสุขลักษณะ และการสังเกตคุณภาพน้ำเบื้องต้น
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาเบื้องต้นได้ ดังนี้ 1) สังเกตลักษณะของน้ำประปา หากมีสี กลิ่น หรือตะกอนผิดปกติ ควรแจ้งหน่วยงานที่ผลิตน้ำประปาเพื่อตรวจสอบ 2) น้ำประปาที่มีกลิ่นคลอรีนอ่อนๆแสดงว่าได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาแล้ว หากไม่ชอบหรือกังวลในกลิ่นดังกล่าวสามารถรองน้ำใส่ภาชนะพักไว้ประมาณ 30 นาที กลิ่นคลอรีน ก็จะจางหายไป หรือกรองผ่านเครื่องกรองชนิดถ่านกัมมันต์จะสามารถดูดซับคลอรีนออกได้ 3) ดูแลรักษาถังพักน้ำในบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจสอบและล้างทำความสะอาดถังพักน้ำทุกๆ 6 เดือน 4) ดูแล ตรวจสอบระบบท่อประปาภายในบ้านให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสนิม หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ 5) หากไม่มั่นใจในความสะอาดของน้ำประปาภายในบ้าน อาจจะนำมาต้ม หรือกรองผ่านเครื่องกรองที่มีระบบฆ่าเชื้อโรค เช่น หลอด UV ก่อนนำมาดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
"กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงน้ำสะอาดและปลอดภัยของประชาชน น้ำประปาที่ผลิตตามมาตรฐานจึงเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญและเชื่อถือได้สำหรับการอุปโภคบริโภค รวมถึงการนำมาใช้ปรุงอาหารเพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคน หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือพบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพน้ำประปา สามารถติดต่อหน่วยงานผลิตน้ำประปาในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมอนามัย 1478" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย