ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้ง "องค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทย" ให้เป็นศูนย์กลางการวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการให้คำปรึกษาเชิงนโยบายด้านทะเลของประเทศ รวมถึงเป็นคลังสมองทางทะเล (Maritime Think Tank) ที่เชื่อมโยงภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคีจากทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ทางทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
สำหรับการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบหมายให้สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ โดยจะจัดตั้งสำนักงานกลางขององค์กรฯ ที่สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจหลักในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสังคม จุฬาฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ประเทศไทย ทะเลไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการประมง การขนส่งทางเรือ พลังงาน การท่องเที่ยว ตลอดจนระบบนิเวศทางทะเล การมีฐานข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นระบบ ทันสมัย และสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จุฬาฯ มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายวิชาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติในด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางทะเลให้เติบโตควบคู่กับความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล
ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ กล่าวถึงความโดดเด่นของโครงการนี้ว่าอยู่ที่การบูรณาการความรู้จากหลากหลายศาสตร์ โดยเฉพาะบุคลากรของจุฬาฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านทรัพยากรทางทะเล กฎหมาย การปกครอง การบริหารจัดการ และระบบนิเวศ รวมถึงองค์ความรู้เชิงนโยบายและการวิจัยขั้นสูง การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่จุฬาฯ รวบรวมพลังของนักวิชาการและบุคลากรหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างเป็นระบบ พร้อมขยายความร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและภาควิชาการ เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายระดับชาติ การจัดตั้ง "องค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทย" มีสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบงานวิชาการ และการดำเนินงานร่วมกับคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายภายนอก ได้แก่ กองทัพเรือ หน่วยงานด้านการวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่เพียงมุ่งเป้าไปที่การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล แต่ยังเน้นการวางรากฐานเพื่อสร้าง "ระบบนิเวศความรู้" และกลไกนโยบายที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทะเลของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืนและมั่นคง
นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เผยว่าความมั่นคงทางทะเลเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกรับรองในแผนแม่บทระดับชาติ โดย สมช. ได้จัดทำ "แผนความมั่นคงทางทะเล" เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ และใช้เป็นเครื่องมือในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความมั่นคงทางทะเลเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้หลายด้าน ทั้งกฎหมายทางทะเล การจัดการทรัพยากรทางทะเล การประเมินสถานการณ์ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เรายังขาดแคลน นอกจากนี้ทะเลไทยยังเป็นพื้นที่สำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ จึงจำเป็นต้องศึกษาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการกำหนดนโยบาย แผนงาน และโครงการต่าง ๆ ให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้อย่างรัดกุมและครอบคลุม ทั้งนี้หากมีการจัดตั้งกลไกที่ครอบคลุม มีข้อมูลที่ถูกต้อง และเครื่องมือที่เหมาะสม ทั้งในเชิงเทคนิคและกฎหมาย จะทำให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลได้สูงสุด ซีงจะทำให้สามารถบริหารจัดการปัญหาได้อย่างรอบคอบ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เกิดผลได้จริง นำไปสู่การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างเต็มศักยภาพ
พล.ร.ต.จุมพล นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งและขับเคลื่อนองค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทยในครั้งนี้เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำไปสู่ความมั่นคงทางทะเลที่นับวันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต้องการการบูรณาการและกลไกการร่วมมือในเรื่องสมุทราภิบาล การที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการจำเป็นต้องมีการจัดการองค์ความรู้ทางด้านทะเลมากขึ้น ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันหลักที่มีมิติการศึกษาทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล จึงเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หลักที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับวิทยาการการศึกษาในการจัดการผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งองค์ความรู้ในเรื่องนี้จะทำให้เกิดการแสวงหาและใช้ประโยชน์ ตลอดจนสร้างสมดุล ส่งต่อความมั่นคงยั่งยืนแก่ประชาชนชาวไทยในอนาคต
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย