นางสาววรารัตน์ ศรีประพัฒน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีในเนื้อส้มโอและเปลือกส้มโอ พบว่าในเนื้อจะถูกนำไปพัฒนาเป็นตำรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากผลส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาในรูปแบบเม็ดฟู่ และในส่วนเปลือกจะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เยลลี่เพื่อสุขภาพ เนื่องจากในน้ำ เนื้อ และเปลือกของส้มโอที่เหลือทิ้งมีสารสำคัญที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินซี และสารลีโมนีน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารดี-ลิโมนีน ที่สกัดได้จากส้ม ส้มโอ มะนาว และมะกรูดได้รับความนิยมมากในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์เภสัชกรรม และเครื่องสำอาง เป็นต้น เพราะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติจึงมีความปลอดภัยต่อร่างกายและสามารถบริโภคได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าส้มโอที่เหลือทิ้งมีสารสำคัญหลายชนิด เช่น สาร ?-Pinene (อัลฟ่า-ไพนีน) ?-Pinene (เบต้า-ไพนีน) ?-Myrcene (เบต้า-เมอร์ซีน) ?-Phellandrene (อัลฟ่า-เฟลแลนดรีน) D-Limonene (ดี-ลิโมนีน) และ ?-Phellandrene (เบต้า-เฟลแลนดรีน) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ได้แก่ ช่วยบำรุงระบบทางเดินหายใจ ช่วยขยายหลอดลม บรรเทาอาการหอบหืด เสริมสร้างความจำ ลดความเครียด ช่วยให้ผ่อนคลายนอนหลับง่ายขึ้น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการปวด ช่วยระบบย่อยอาหาร ลดคอเลสเตอรอล เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็ง ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญและการไหลเวียนเลือด ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเม็ดฟู่และเยลลี่กัมมี่ ของนักวิจัยในโครงการ คือ นางสาวปิยนุช ศรชัย และ นายสมชาย หลวงสนาม ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากกว่า 90% รวมถึงมีแผนจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ
"กรมวิชาการเกษตร ได้บูรณาการงานวิจัยและพัฒนา โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อแก้ปัญหาขยะจากเปลือกส้มโอที่มีปริมาณมากของเกษตรกรชาวสวนส้มโอ ช่วยลดการสูญเสียอาหารที่กลายเป็นขยะอาหารของประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเกษตรไทยในตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อน BCG สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 0 2904 6885 ต่อ 95
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร