อ.นพ.บุญฤกษ์ แสงเพชรงาม ประธานศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้ร่วมกิจกรรม "SiCOE Forum 2025 x SDGs" ณ ศาลาศิริราช ๑๐๐ ปี โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งถือเป็นกิจกรรมประจำปี ที่จะนำความก้าวหน้า ในเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์ผสมผสานเทคนิคการผ่าตัดที่มีความทันสมัยในการ รักษาผู้ป่วย มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นครั้งแรก ในการเปิด "นวัตกรรมของหมอไออาร์ (IR ) ภายใต้สโลแกน "แม่นยำ ฟื้นไว ไร้แผล" เพื่อลดภาระของผู้ป่วย พร้อมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ในการเข้ามาใช้บริการเพื่อรักษา รวมถึงการส่งเสริมบุคลากรทางการแพทย์ ด้านรังสีร่วมรักษา หรือ หมอ IR เพิ่มขึ้น
"การรักษาด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ไออาร์ (IR) เป็นเทคโนโลยีใหม่ สำหรับประเทศไทย หากสามารถขยายไปยังภูมิภาคทั่วประเทศ จะส่งผลดีต่อกระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ลดความเสี่ยงของการดูแล และการติดเชื้อของผู้ป่วยได้ ซึ่งปัจจุบัน ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า จำเป็นต้องมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาล ให้มีความชำนาญในการใช้เครื่องมือรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ"
นอกเหนือจากการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การผลักดันให้รังสีร่วมรักษาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการสนับสนุนด้านงบประมาณ ขยายศักยภาพการรักษาด้วย IR สู่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา ช่วยลดภาระผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้ามารับการรักษาในเมือง เพราะด้วยสถานการณ์ โรคในปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยหมอ IR หรือรังสีร่วมรักษาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้วิทยาการดังกล่าว เป็นการรักษาที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
"ปัจจุบัน วิธีทางรังสีร่วมรักษา หรือ IR ได้ก้าวมาเป็นทางเลือกการรักษายุคใหม่ที่เข้ามาปฏิวัติวงการแพทย์ ด้วยจุดเด่นของการรักษาที่ "แม่นยำ ฟื้นไว ไร้แผล" อ.นพ.บุญฤกษ์ กล่าว โดยอธิบายว่า รังสีร่วมรักษา หรือ Interventional Radiology : IR เป็นเทคนิคการรักษาด้วยการใช้ "ภาพนำทาง" ทางการแพทย์ เช่น เอกซเรย์ (X-ray), เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นตัวนำทางในการรักษา โดยแพทย์จะสอดใส่อุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น สายสวน (catheter), ลวดนำทาง (guidewire), เข็มเจาะ (needle) เข้าไปในร่างกายผ่านทางหลอดเลือดหรือผิวหนังเพื่อทำการรักษาโรคที่บริเวณนั้นๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่น การอุดหลอดเลือด การขยายหลอดเลือด การให้ยาเคมีบำบัด การจี้เนื้องอก โดยเป็นหัตถการแบบแผลเล็ก (minimally invasive) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิม
ภาพนำทาง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นตำแหน่งของโรคได้อย่างชัดเจน และวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำ การเลือกใช้ภาพนำทางชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกรณี เช่น อัลตราซาวด์เหมาะกับการรักษาที่อยู่ตื้นๆ ใกล้ผิวหนัง ส่วน CT Scan ช่วยให้มองเห็นอวัยวะภายในและวางแผนการรักษาที่ซับซ้อนได้
ด้าน รศ.นพ. สมราช ธรรมธรวัฒน์ อาจารย์แพทย์ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มาประสานรวมกัน ทำให้ปัจจุบันการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา (IR) ได้ก้าวมามีบทบาทเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่โรคทางระบบประสาทไปจนถึงโรคทางระบบลำตัว อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke), การจี้รักษาเนื้องอกและมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งไต, ต่อมไทรอยด์โต
นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคต่างๆ มากมาย อาทิเช่น การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยวิธีอุดหลอดเลือด (Prostate artery embolization หรือ PAE), การรักษาเนื้องอกมดลูกโดยการอุดหลอดเลือด (Uterine artery Embolization) การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยวิธีอุดหลอดเลือดเพื่อลดอาการปวด (Genicular artery embolization หรือ GAE), การรักษาเนื้องอกต่อมไทรอยด์โดยการจี้ด้วยความร้อน, การอุดหลอดเลือดในภาวะเลือดออกจากอุบัติเหตุ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา (IR) จะมีประโยชน์มากมาย แต่ผู้ป่วยและประชาชนส่วนใหญ่ยังรู้จักศาสตร์ทางการแพทย์สาขานี้ไม่มากนัก ศูนย์ IR ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมือง อีกทั้งยังมีบุคลากรทางการแพทย์ด้านรังสีร่วมรักษา หรือ "หมอ IR" จำนวนจำกัด จำนวนแพทย์ IR ด้านระบบลำตัวทั่วประเทศมีเพียง 140 คน
รศ.นพ. สมราช กล่าวว่า การขยายเครือข่ายการให้บริการรังสีร่วมรักษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีราคาสูง อย่างเช่นเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด (Digital Subtraction Angiography) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาหลายชนิด ทำให้การเข้าถึงบริการการรักษาของผู้ป่วยยังคงเป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค
การผลักดันการรักษา IR ให้เข้าถึงผู้ป่วยทั่วประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา ลดภาระการเดินทางเข้ามารักษาในเมือง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยชาวไทยทั่วประเทศให้เข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" รศ.นพ. สมราช กล่าว
ศ.คลินิก พญ.อัญชลี ชูโรจน์ ผู้ก่อตั้งศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช กล่าวว่า ศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช เป็น 1 ใน 19 ศูนย์ความเป็นเลิศ (SiCOE) ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคด้วยวิธีการทางรังสีร่วมรักษา แบ่งเป็น 2 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบประสาทและไขสันหลัง (Interventional Neuroradiology) 2. ระบบลำตัว (Body Interventional Radiology) อีกทั้งยังมีบทบาทในการการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางรังสีร่วมรักษาด้วยหลักสูตรที่ได้การรับรองจากแพทยสภา
ศูนย์รังสีร่วมรักษาศิริราช มีความมุ่งหมายที่จะเป็นผู้นำและผู้ชี้นำด้านรังสีร่วมรักษาในระดับสากล ทั้งในด้านการให้บริการ การผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการค้นคว้าวิจัย พัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยยึดประโยชน์การรักษาให้กับผู้ป่วยเป็นเป้าหมายสำคัญ
ที่มา: มาเธอร์ครีเอชั่น