สัญญาณเตือนระดับชาติ! มธ. ชี้ชัด "สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ" ตัวเร่งวิกฤตเศรษฐกิจไทย

ศุกร์ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๘ ๑๓:๒๓
พ่วงผลกระทบสุขภาพจิต และโครงสร้างแรงงาน เผยตัวเลขผู้สูงวัยเตรียมพุ่งสูงมากกว่า 20-30%แนะต้องเร่งทางออกผ่านระบบสวัสดิการ และการดูแลแบบมีส่วนร่วม
สัญญาณเตือนระดับชาติ! มธ. ชี้ชัด สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ ตัวเร่งวิกฤตเศรษฐกิจไทย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" (Aged Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยคาดการณ์ว่า สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 20-30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งแนวโน้มนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงจะทำให้เกิดภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 อัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.1 จากเดิมร้อยละ 10.7 ในปี 2537 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายในภาระการดูแลผู้สูงอายุในด้านการเงินและสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและครัวเรือน นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานวัยทำงานและการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ไม่มีบำนาญยังเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่ประเทศต้องเตรียมตัวรับมือ โดยผู้สูงอายุหลายคนยังต้องพึ่งพาการดูแลจากภาครัฐและลูกหลานในครอบครัว ขณะเดียวกัน แนวโน้มการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุแบบลำพังยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 มาเป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2567 ตลอดจนปัญหาสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ความเจ็บป่วยต่าง ๆ และความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงออนไลน์เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ และนโยบายสิ่งแวดล้อมและอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" อย่างเต็มรูปแบบ (Complete aged society) โดยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยในทุก ๆ 100 คน เป็นผู้สูงอายุ 21 คน เมื่อพิจารณาเชิงโครงสร้างประชากรตามเพศ พบว่า ผู้สูงอายุเพศหญิงมีจำนวนมากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย โดยคิดเป็นร้อยละ 57.9 และร้อยละ 42.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากจำแนกตามช่วงวัย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) ร้อยละ 59.3 รองลงมา คือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) ร้อยละ 29.8 และน้อยที่สุดคือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 10.9

แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งมีผลกระทบสำคัญต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนคือ สัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลง พร้อมกับอัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.7 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 31.1 ในปี 2567 ซึ่งหมายความว่าประชากรในวัยทำงานทุก ๆ 100 คน จะต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุถึง 31 คน สถานการณ์นี้จะทำให้แรงงานในประเทศต้องเผชิญกับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นในครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือบำนาญก็ยังจำเป็นต้องทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกันยังต้องพึ่งพาจากภาครัฐและลูกหลานในการดูแล

"คาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำงานในภาคแรงงานได้เต็มที่ อีกทั้งภาระการดูแลสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลต้องมีการปรับตัวในการจัดสรรงบประมาณสาธารณะเพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การเพิ่มโครงการประกันสุขภาพหรือการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างกลไกเพื่อสนับสนุนการประกันสังคมอย่างโปร่งใสและยั่งยืน ยกตัวอย่างกรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีระบบเก็บภาษีสำหรับบำเหน็จบำนาญแก่ประชาชนในอนาคต และมีการร่วมสมทบระหว่างรัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ประเทศไทยควรศึกษาและนำมาใช้ในระบบสวัสดิการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมสูงวัย"

นอกจากนี้ การปรับตัวของภาคธุรกิจและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตยังเป็นอุปสรรค เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ ทำให้การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหลายภาคส่วนยังคงเป็นเรื่องท้าทายและต้องใช้เวลาในการปรับตัว ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึง เพราะขาดแคลนอุปกรณ์ดิจิทัลพื้นฐาน เช่น สมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทะเบียนและเข้าถึงบริการภาครัฐในยุคดิจิทัล ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุบางส่วนหลุดจากระบบและไม่ได้รับการสนับสนุนหรือการดูแลที่เหมาะสมจากภาครัฐ

รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จำนวนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นและจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานทั้งในภาคการเกษตร บริการ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและอาจส่งผลให้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ในขณะที่ค่าแรงของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกลุ่มแรงงานเหล่านี้ประกอบด้วยทั้งผู้ที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองอย่างถูกต้อง โดยแรงงานที่มาทำงานผิดกฎหมายอาจทำให้เกิดปัญหาด้านอาชญากรรมและความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการควบคุมของภาครัฐ อีกทั้งการลดลงของประชากรวัยทำงานยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลายและความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ การเพิ่มภาระในด้านการทำงานอาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตในการทำงานถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (work-life balance)

อีกแง่หนึ่ง คนรุ่นใหม่อาจต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จนอาจเกิดความตึงเครียดระหว่างรุ่น ทั้งในเรื่องการแบ่งทรัพยากรและหน้าที่ดูแล ซึ่งสะท้อนถึงความต่างด้านทัศนคติระหว่างเจเนอเรชันในสังคมไทยอย่างชัดเจน การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังความเข้าใจระหว่างรุ่นตั้งแต่ในโรงเรียน ไปจนถึงวัฒนธรรมการทำงาน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดความเครียดทางจิตใจที่อาจลุกลามจนเป็นโรคทางจิตเวช หรือรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย สังคมไทยจำเป็นต้องเร่งสร้าง "ภาวะลีซีเรียน" (Resilience) หรือความสามารถในการรับมือและฟื้นตัวจากความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนมีทักษะจัดการอารมณ์และความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถูกบรรจุอย่างจริงจังในระบบการศึกษาและควรได้รับการผลักดันโดยเร่งด่วน

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวในครัวเรือนยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2567 ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัวและวิถีชีวิตในสังคมไทยยุคใหม่ สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง และความเหงา จากการที่บุตรหลานจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพในเมือง ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะเปราะบาง และเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงหรือฉ้อโกง หลอกให้ลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ หรือรูปแบบอื่น ๆ ปัญหาดังกล่าวจึงควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยภาครัฐและสังคมควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีบทบาทที่ชัดเจนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาระบบการดูแลที่ครอบคลุมทั้งในมิติทางร่างกายและจิตใจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นในการพัฒนาความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมสูงวัย โดยเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการเข้ากับทักษะทางสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาและผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนในการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป" รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์

สัญญาณเตือนระดับชาติ! มธ. ชี้ชัด สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ ตัวเร่งวิกฤตเศรษฐกิจไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๓๒ Electronic Nose นวัตกรรมตรวจวัดกลิ่น! เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี กรมอนามัย ร่วม MOU กรมควบคุมมลพิษ และ 4 หน่วยงานรัฐ - เอกชน
๑๗:๐๑ ITEL ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 68 ไฟเขียวอนุมัติแจกวอร์แรนต์ฟรี ลุยขยายธุรกิจ
๑๗:๐๓ สวทช. โดย นาโนเทค เฟ้นหา 8 ผู้ประกอบการ ต่อยอดนวัตกรรมสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
๑๗:๕๙ คาเฟ่ แคนทารี ชวนมาลิ้มลองเมนูพิเศษประจำเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2568 อร่อยครบเครื่องทั้งรีซอตโตต้มยำ เครป
๑๗:๑๗ ซีพี ออลล์ x มูลนิธิชาวปักษ์ใต้ ร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่ออาชีพแก่เยาวชนในจังหวัดภาคใต้
๑๗:๑๑ ซีพีแรม ดีเดย์ เปิดเวที FINNOVA 2025 : ยกระดับความรู้สู่นวัตกรรมอาหาร ปักหมุดไทยศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก
๑๗:๑๙ ดีไซน์เพื่อชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง: อาดิดาส ออริจินอลส์ เผยโฉม ADIZERO ARUKU พร้อมพื้นรองเท้าแบบโปรเกรสซีฟ
๑๖:๒๘ พรีโม จับมือ Q-CHANG จัดทัพทีมช่างกว่า 2,000 ทีม! ยกระดับบริการซ่อมห้องชุด ตอกย้ำแนวคิด Primo Happy Maker
๑๖:๓๙ ครั้งแรก กับ Dance (แดนซ์) Glossy Body Hair Perfume Mist น้ำหอม 2-in-1 พร้อมเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ เก๋ไก๋ บุกใจกลางกรุง ชวนสาวๆ
๑๖:๕๓ SCB CIO ชี้ 3 ปัจจัยกระทบตลาดการเงินฉุดสินทรัพย์ทั่วโลกผันผวน แนะระวังการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มน้ำหนักหุ้นกู้ระยะสั้นคุณภาพดี และ