วช. ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่ 'ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5' มุ่งลดฝุ่นพิษภาคเหนืออย่างยั่งยืน

จันทร์ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๘ ๑๘:๐๙
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร.ยุพิน เลิศบุรุษ ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนแผนงานวิจัยตามเป้าหมาย และ นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนและติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัย ภายใต้แผนงาน "งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ"และแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเด็น ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสภาลมหายใจในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมี ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมแผนงานเป้าหมายสำคัญ ของเป้าหมายตามยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) เป็นประธานฯ พร้อมด้วย ดร.เจน ชาญณรงค์ กรรมการส่งเสริมแผนงานเป้าหมายสำคัญ ของเป้าหมายตามยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการส่งเสริมแผนงานเป้าหมายสำคัญ ของเป้าหมายตามยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) และนายประลอง ดำรงไทย กรรมการและเลขานุการส่งเสริมแผนงานเป้าหมายสำคัญ ของเป้าหมายตามยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) กล่าวถึงความเป็นมา เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงาน ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่
วช. ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่ 'ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5' มุ่งลดฝุ่นพิษภาคเหนืออย่างยั่งยืน

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ได้จัดทำแผนงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้หัวข้อ "ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5" โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน ผ่านโมเดล 8-3-1 หรือกรอบการทำงานเพื่อจัดการฝุ่นอย่างเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่พัฒนาขึ้นเพื่อจัดการปัญหาฝุ่นอย่างเป็นระบบครบวงจร ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน แบ่งกระบวนการแก้ปัญหาออกเป็น 3 ระยะสำคัญ 1. ระยะป้องกัน: 8 เดือน ในช่วงเวลานี้ ซึ่งสภาพอากาศเอื้ออำนวย การดำเนินการมุ่งเน้นไปที่การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 โดยใช้มาตรการเชิงป้องกัน เพื่อทดแทนแหล่งพลังงานที่ก่อมลพิษ ลดการปล่อยฝุ่นจากอุตสาหกรรมและคมนาคม 2. ระยะเผชิญเหตุ: 3 เดือน ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 มักพุ่งสูงขึ้น มาตรการในระยะนี้เน้นการตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อประสานงานและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แจกจ่ายหน้ากากอนามัย และแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นและวิธีป้องกันตัวเอง 3. ระยะฟื้นฟูและทบทวน: 1 เดือน หลังจากสถานการณ์ฝุ่นเริ่มคลี่คลาย การดำเนินการในระยะนี้มุ่งเน้นไปที่การประเมินผลและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต การประเมินผลกระทบและถอดบทเรียน จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การปรับปรุงแผนปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาฝุ่นในปีถัดไป รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ โมเดล 8-3-1 ไม่เพียงช่วยให้การจัดการปัญหาฝุ่นเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แต่ยังเน้นการบูรณาการข้อมูลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ เอกชน และชุมชน การใช้ข้อมูลจากการดำเนินงาน ในแต่ละช่วงเวลาเป็นฐานในการกำหนดนโยบายและปรับปรุงมาตรการในระยะยาว

นายประลอง ดำรงไทย กล่าวถึงการตั้งเป้าลดจำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินมาตรฐานไม่ให้เกิน 50 วันต่อปี และลดจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) จากสาเหตุฝุ่นไม่ให้เกิน 1,000 คนต่อปี นอกจากนี้ยังต้องลดจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) จากการเผาในที่โล่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ไม่เกิน 5,000 จุดต่อปี จากข้อมูลพบว่าพื้นที่เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ซึ่งการเผาไหม้มักเกิดจากการเตรียมพื้นที่การเกษตรและการบุกรุกป่า โดยจังหวัดที่พบการเผาไหม้สูงสุด ได้แก่ ตาก ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน โดย วช. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัย ซึ่งประสานกับหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผ่านแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม เพื่อลดฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น แผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดแม่ฮ่องสอน) และแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน) การดำเนินงานตลอดปีมีการกำหนดหมุดหมายที่ชัดเจน โดยเริ่มจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อทำแผนบูรณาการ การลงพื้นที่เพื่อติดตามและประเมินตัวชี้วัดสำคัญในแต่ละจังหวัด และการจัดทำรายงานความก้าวหน้าเป็นประจำทุกเดือนผ่านระบบติดตามผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว

นอกจากนี้ ภายในงานมีการนำเสนอภาพรวมของแผนงาน "งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฝุ่นละออง PM2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ" และ แผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. ประเด็น "ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ ผู้อำนวยการแผนงาน การนำเสนอภาพรวม การนำระบบข้อมูลขนาดใหญ่ไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต หัวหน้าแผนงานมิติการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ การนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานโครงการการจัดการมลพิษ PM2.5 ของสภาลมหายใจภาคเหนือ โดย สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจจังหวัดลำปาง สภาลมหายใจจังหวัดพะเยาเพื่อแก้ไขผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากไฟป่า โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีแนวทางดำเนินการ อาทิ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางป้องกันไฟป่า การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางเลือกให้แก่ประชาชนที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร เพื่อป้องกันการพึ่งพิงทรัพยากรจากป่าโดยตรง การส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นระบบ และยังมุ่งเน้นการบูรณาการข้อมูล การประเมินผล และการปรับปรุงแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนานโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

วช. ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่ 'ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5' มุ่งลดฝุ่นพิษภาคเหนืออย่างยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๐๑ วช. ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่ 'ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5' มุ่งลดฝุ่นพิษภาคเหนืออย่างยั่งยืน
๑๘:๐๘ TKS จัดประชุมผู้ถือหุ้นปี 2568 ไฟเขียวจ่ายปันผลอีก 0.33 บ./หุ้น
๑๘:๔๙ STECH จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 แจกปันผลเป็นเงินสดหุ้นละ 0.034 บาท
๑๘:๒๒ SGP จัดประชุมผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติเคาะปันผลครึ่งปีหลัง 0.20 บาท/หุ้น
๑๘:๐๖ ผู้ถือหุ้น FLOYD พร้อมใจเห็นชอบ ไฟเขียวทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.08 บาท/หุ้น
๑๘:๑๑ TEKA จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 พร้อมไฟเขียวจ่ายปันผล 0.155 บาท
๑๘:๒๓ BRR จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นเคาะจ่ายปันผล 0.50 บาท/หุ้น
๑๘:๓๘ กลุ่มเหล็กรุ่นใหม่ เข้าพบ 'เอกนัฏ' ประสานเสียงให้กำลังใจ ดันยกเลิกเหล็ก IF กันเหล็กนำเข้าไร้มาตรฐาน
๑๘:๑๘ ดั๊บเบิ้ล เอ จับมือ เอเชีย เอรา วัน และกรมป่าไม้ จัดกิจกรรมรักษ์โลก สร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
๑๗:๒๘ LPH ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห. ไฟเขียวจ่ายปันผลอีก 0.10 บ./หุ้น