กลุ่มผู้ประกอบการเกาะพยามและเครือข่ายภาคประชาชนระนอง-ชุมพร จัดงาน "ดินเนอร์ ทอล์ค" ห่วงโครงการแลนด์บริดจ์กระทบธรรมชาติ-วิถีชีวิต

อังคาร ๒๙ เมษายน ๒๕๖๘ ๑๐:๑๐
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการเกาะพยาม จังหวัดระนองร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนระนอง-ชุมพร จำนวนกว่า 60 คน จัดงาน "ดินเนอร์ ทอล์ค" ในหัวข้อ "ถกอนาคตเกาะพยาม ท่ามกลางคลื่นลมการเปลี่ยนแปลง" เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและหาทางรับมือกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตดั้งเดิม
กลุ่มผู้ประกอบการเกาะพยามและเครือข่ายภาคประชาชนระนอง-ชุมพร จัดงาน ดินเนอร์ ทอล์ค ห่วงโครงการแลนด์บริดจ์กระทบธรรมชาติ-วิถีชีวิต

ภายในงานครั้งนี้ นอกจากตัวแทนชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่แล้ว ยังมี "ใบตอง" จรีรัตน์ เพชรโสม Miss Earth ปี 2564 นักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะของอาสาสมัคร กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมเข้ารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย โดยเธอแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับเกาะพยาม พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาที่เคารพวิถีชีวิตและธรรมชาติอันงดงามของท้องถิ่น

ใบตอง -จรีรัตน์ เพชรโสม Miss Earth ปี 2564 นักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะของอาสาสมัคร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า "ก่อนที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย และทะเลที่สวยงามจะถูกกลืนหายไปด้วยโครงการแลนด์บริดจ์ ใบตองไม่อยากเห็นธรรมชาติถูกเอาเปรียบ ไม่อยากเห็นคนตัวเล็ก ๆ ต้องเสียบ้าน เสียทะเลที่เขารักไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีใครลุกขึ้นปกป้อง เกาะพยามต้องการเสียงของเราทุกคน เพื่อร่วมกันยืนหยัด ปกป้องผืนป่า ทะเล และวิถีชีวิตของผู้คน ให้คงอยู่ต่อไปอย่างที่ควรจะเป็น"

โครงการแลนด์บริดจ์ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกสองแห่งที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร รวมถึงมอเตอร์เวย์และทางรถไฟเชื่อมสองฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน โดยโครงการอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA และ EHIA) ขนานไปกับการผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEC) ซึ่งจะเปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินขนาดใหญ่ รวมถึงการนำพื้นที่ ส.ป.ก. และที่ราชพัสดุมาพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ด้วยสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากขาดกระบวนการรับฟังประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง และมีความกังวลอย่างมากว่าการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจชุมชน และเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของเกาะพยามและพื้นที่โดยรอบไปอย่างไม่อาจย้อนกลับได้

คุณธารเทพ โชชัย หนึ่งในผู้ประกอบการบนเกาะพยาม กล่าวว่า "ผมเป็นห่วงว่าผลกระทบจากโครงการนี้จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนชุมพรหรือระนอง หากเกิดสารเคมีรั่วไหลในเส้นทางที่เรือผ่าน มีโอกาสผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีชื่อเสียงด้านการดำน้ำระดับโลก 2 แห่ง คือ หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ 3 จังหวัดฝั่งอันดามัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต และ การขุดลอกร่องน้ำลึกหรือการถมทะเลทำท่าเทียบเรือจะทำให้กระทบถึงป่าชายเลนในจังหวัดระนอง และสร้างความเสียหายต่อประมงชายฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งสอนดำน้ำที่ติดอันดับโลก ก็อาจได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลที่ขุ่นและเสื่อมโทรม ผมจึงไม่เห็นถึงความคุ้มค่าของการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้"

แม้รัฐบาลชี้ว่าการพัฒนาแลนด์บริดจ์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการในพื้นที่แสดงความกังวลว่าโครงการจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแนวปะการัง ป่าชายเลน และแหล่งอาหารในทะเล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและประมงพื้นบ้าน เกาะพยามซึ่งอยู่ห่างจากจุดก่อสร้างไม่เกิน 4 กิโลเมตร [1] ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของผู้ประกอบการในพื้นที่พบว่าเกาะพยามมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 12 ล้านบาทในฤดูท่องเที่ยวเพียง 6 เดือน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล

หลายเสียงจากชุมชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวขัดแย้งกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนาม เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) และสนธิสัญญาทะเลหลวง (Ocean Treaty) ที่มุ่งหมายเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ขณะที่แนวทางพัฒนาทางเลือกอย่างการส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและ Andaman Wellness Corridor กลับถูกละเลย

การจัดงานครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นเวทีถกอนาคตของเกาะพยาม แต่ยังเป็นการส่งเสียงจากประชาชนที่ต้องการให้การพัฒนาเคารพสิทธิของคนในพื้นที่ และคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นรากฐานของชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างแท้จริง

[1] สิ่งที่ประชาชนควรรู้ หากก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์: https://policywatch.thaipbs.or.th/article/economy-154?utm_source=chatgpt.com

ที่มา: กรีนพีซ ประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๑๓ TISCO ESU ฟันธงกนง. ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% รับมือสงครามการค้า - เศรษฐกิจโตต่ำ
๑๓:๕๕ NT นำคลาวด์หนุนแพลตฟอร์มกันลวง ร่วมลงนาม MOU DE-fence ระหว่างกระทรวงดีอีและหน่วยงานพันธมิตรพร้อมเปิดใช้งาน 1
๑๓:๒๕ โกลเบล็ก คัด 5 หุ้นเด่นติดโผกองทุน Thai ESGX เข้าลงทุน
๑๒:๓๘ การประชุมส่งเสริมการลงทุนระดับโลกเปิดฉาก ณ เมืองซูโจว เงินสะพัดกว่า 3.4 แสนล้านหยวน
๑๒:๑๕ DIPROM ปลุกพลัง Soft Power ปั้นแบรนด์ไทย Born to Brand สู่ Hero Brand ระดับโลก
๑๒:๒๗ แซง-โกแบ็ง จับมือ Dow-พรีแพค เปิดตัวถุงบรรจุกาวยาแนวเทคโนโลยีรีไซเคิลขั้นสูง ขับเคลื่อนธุรกิจวัสดุก่อสร้างสู่รักษ์โลก ตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกใหม่ 2.3
๑๒:๒๕ ดูโฮม บุกตลาดแหลมฉบัง จัดโปรฯใหญ่ ตอกย้ำความครบทุกเรื่องบ้านสินค้าลดสูงสุด 60% พร้อมจัดสัมมนาพิเศษเสริมแกร่งช่างชุมชน
๑๒:๒๒ อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต มอบสินไหมกรมธรรม์ประกันโรคร้ายแรง
๑๑:๓๓ สุขเป็น จึงเป็นสุข ค้นหาสุขแท้ที่ไม่ทุกข์ รับเดือนวิสาขะ กับกิจกรรมธรรมะในสวน ณ สวนเบญจกิติ
๑๑:๒๖ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมยินดี Piyanas ศูนย์รวมเครื่องเสียงชั้นนำ เปิดโชว์รูมใหม่