ส.อ.ท. จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

อาทิตย์ ๒๐ พฤษภาคม ๒๐๐๗ ๑๓:๑๒
กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ส.อ.ท.
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดให้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 38 ของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยได้รับเกียรติจากนางมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าร่วมในพิธีสถาปนากับผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมฯ ทั้งนี้ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยถึงความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ว่า สืบเนื่องอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีความสำคัญต่อระบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบการบริหารจัดการของภาครัฐ การนำไปเป็นเครื่องมือการขยายขอบเขตการศึกษา การตลาด ฯลฯ ทำให้ประเทศต่างๆ พยายามที่จะลงทุนและพัฒนาด้านซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดสินค้าและบริการด้านไอทีของโลกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สภาอุตสาห-กรรมฯ จึงได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วประเทศรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก และเอื้อประโยชน์ให้การวางยุทธศาสตร์การพัฒนา การแก้ไขปัญหาระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐและองค์กรในต่างประเทศ ให้ดำเนินไปได้อย่างคล่องตัวและมีทิศทางสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศมีความแข็งแกร่งและพัฒนาทัดเทียมนานาประเทศ โดยเบื้องต้นมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสิ้น 22 ราย ซึ่งมีนายอนุกูล แต้มประเสริฐ บริษัท ไทยคอม แมเนจเมนท์ กรุ๊ป จำกัด เป็นประธานคณะผู้ก่อตั้ง
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ ได้เปิดเผยถึงสภาวะการณ์อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประกอบไปด้วย บริษัทต่างๆ ตั้งแต่เอสเอ็มอีไปจนถึงบริษัทข้ามชาติ ประมาณ 1,500 บริษัท ขนาดของอุตสาหกรรมประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี (ปี 2549) แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยคิดเป็นอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 60 ทั้งการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ และการบริการ ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร แฟชั่น ท่องเที่ยว ยานยนต์ และอัญมณี ที่คนไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่ที่แตกต่างกันของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จากอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อื่นๆ คือ ไทยจะต้องมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาห-กรรมซอฟต์แวร์ให้เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ดาวเด่นแทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมส่งออก (Export Leading Industry) เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นอุปสรรคของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ คือ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีเวลาในการพัฒนาเหลือไม่มากนัก รวมทั้งข้อจำกัดของจำนวนบุคลากร และ ผู้เชี่ยวชาญในประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมไทย และการเข้าถึงตลาด (Market Access) ต่างประเทศ ดังนั้นการสร้างให้เกิดความร่วมมือทั้งเอกชนและรัฐ เพื่อพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจึงมีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ และ สังคมของประเทศ
ดังนั้น การตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จึงมีความสำคัญในฐานะตัวแทนของภาคเอกชนอย่างเป็นทางการ เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรม และ พัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Add) ให้กับห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จึงมิได้มุ่งเน้นเฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แต่เพียงอย่างเดียว แต่กลุ่มจะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย และการสร้างมูลค่าเพิ่มของทั้งอุตสาหกรรมโดยรวม และการเกื้อประโยชน์ของการนำซอฟต์แวร์ไปใช้
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังมุ่งหวังในการต่อยอดความร่วมมือ การเชื่อมโยง เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมหลักของประเทศ และมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนไทย และการสร้างองค์ความรู้ของคนไทยให้เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่มั่นคงยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน และเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-9

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ