กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระชนิดเม็ดจากขมิ้นชัน“TISTRAMIN” ระบุผลทดสอบผ่านมาตรฐานระดับสากล ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรในครัวเรือนที่นิยมนำมาปรุงแต่งรสและสีของอาหาร และเป็น 1 ใน 10 สมุนไพรหลักที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ ทั้งนี้ขมิ้นชันมีคุณค่าต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น เหง้าของขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบ และมีฤทธิ์ในการขับน้ำดี น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชัน มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่น จุกเสียด ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำขมิ้นชันผลิตเป็นยาแคปซูลสำหรับรักษาอาการ ปัจจุบันพบว่าสารในขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ ดังนั้นจึงได้นำขมิ้นชันมาใช้ในเรื่องของเครื่องสำอางชะลอความแก่และสปาบำรุงผิวอย่างแพร่หลาย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยที่ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาขมิ้นชันเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ
ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. จึงได้ดำเนิน “โครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระจากขมิ้นชันอย่างครบวงจร” และประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระชนิดเม็ดจากขมิ้นชัน ภายใต้ชื่อผลงานวิจัยว่า “TISTRAMIN” ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดควมเสียหายต่อสุขภาพ เช่น การอักเสบของเซลล์และการทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ช่วยชะลอความเสื่อมชราหรือการแก่ของเซลล์และการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านกระบวนการทดสอบทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาตามมาตรฐานสากล ที่สามารถยืนยันความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ วว. ได้ยื่นจดสิทธิบัตรขั้นตอนและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ภาครัฐหรือเอกชน เพื่อสำหรับจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ดร.ประไพภัทร คลังทรัพย์ นักวิชาการ 8 ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. กล่าวถึงการศึกษา วิธีการสกัดและการตรวจควบคุมคุณภาพขององค์ประกอบหลักที่เป็นกลุ่มสารเคอร์คูมินอยด์ (curcuminoids) ในเหง้าขมิ้นชันสด การตรวจพิสูจน์สรรพคุณในการต่อต้านอนุมูลอิสระทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับสากล ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเคอร์คูมินอยด์ที่ได้มีสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระได้จริง
ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระชนิดเม็ด TISTRAMIN ที่ได้พัฒนาขึ้นผ่านขบวนการทดสอบด้านพิษวิทยาเพื่อประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะกึ่งเรื้อรังในสัตว์ทดลองพบว่า ผลิตภัณฑ์มีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันโดยการกิน (LD50) สูงกว่า 5000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว และไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในระยะกึ่งเรื้อรังในสัตว์ทดลองที่ได้รับผลิตภัณฑ์ TISTRAMIN ขนาด 250, 750 และ 1,500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นขนาดที่สูงกว่าที่คนรับประทาน 25-150 เท่า โดยตรวจไม่พบความผิดปกติของอัตราการเจริญเติบโต ค่าความผิดปกติของระบบเลือด ความปกติทางชีวเคมีของเลือด ทางเคมีคลินิก และความผิดปกติของอวัยวะภายในทุกระบบ นอกจากนี้ยังตรวจไม่พบคุณสมบัติก่อกลายพันธุ์ของผลิตภัณฑ์ TISTRAMIN เมื่อทดสอบด้วยวิธี micronucleus assay ในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (V79) จากข้อมูลด้านพิษวิทยาสรุปได้ว่า ผลิตภัณฑ์ TISTRAMIN มีความปลอดภัยแก่การบริโภค โดยผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบที่ระบุใน OECD Guidelines for Testing of Chemicals (2001) ของสหภาพยุโรป
“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร TISTRAMIN ใช้เทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบยาเม็ด นอกจากจะแตกต่างจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาดซึ่งอยู่ในรูปแคปซูลแล้ว ยังใช้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เพราะราคาเครื่องจักรในการตอกเม็ดจะถูกกว่าเครื่องทำแคปซูล ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อแคปซูล และใช้ระยะเวลา แรงงานในการผลิตน้อยกว่า อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาตามหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นวัตถุดิบกระทั่งได้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งผ่านขบวนการตรวจสอบทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาตามมาตรฐานสากล ที่สามารถยืนยันความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้” ดร.ประไพภัทรกล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม “ผลิตภัณฑ์ TISTRAMIN” ได้ที่ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. โทร. 0 2577 9000 หรือ ชมผลิตภัณฑ์ได้ในงานสัมมนาวิชาการ “เส้นทางสู่ฝัน...ร่วมสร้างสรรค์ S&T” ฉลองครบรอบ 44 ปี วว. ในวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2550 เวลา 8.30-16.30 น. ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
- ๐๐:๓๗ วว. / PCAARRD ประเทศฟิลิปปินส์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร
- ๒๔ ม.ค. วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์นวัตกรรม "ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนาโนสำหรับสุขภาพผิวผู้ชาย จากสารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่"
- ๒๔ ม.ค. วว./สวทช. จัด Workshop ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้ประเทศที่สาม มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน