“เมืองไทย-ภัทร” ประกาศผนึกกำลังควบกิจการ ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยเติบโต 2 เท่า ภายใน 5 ปี

จันทร์ ๑๘ มิถุนายน ๒๐๐๗ ๑๕:๓๖
กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--เมืองไทยประกันภัย
เมืองไทยประกันภัย และภัทรประกันภัย ประกาศผนึกกำลังเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ด้วยการ “ควบกิจการ” มั่นใจก้าวขึ้นสู่บริษัทประกันวินาศภัยในระดับแนวหน้าของประเทศ ภายใน 5 ปี ด้วยเบี้ยประกันภัยกว่า 7 พันล้านบาท นับเป็นการผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 บริษัท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจ อีกทั้งรองรับกับนโยบายการเปิดเสรีประกันภัยในอนาคตอันใกล้ได้เป็นอย่างดี
คณะกรรมการบริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ได้อนุมัติในข้อตกลงเรื่อง “การควบกิจการระหว่าง บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ที่ประชุมของทั้ง 2 คณะกรรมการมีมติอนุมัติ และเห็นชอบตามหลักการเรื่องการควบกิจการของบริษัททั้ง 2 และภายหลังจากการควบกิจการ ให้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทประกันวินาศภัยใหม่ ซึ่งจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะดำเนินการได้ประมาณหลังเดือนมีนาคม 2551
นางกฤตยา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ได้แถลงข่าวร่วมกัน ในการจับมือเพื่อผนึกกำลังควบกิจการของทั้ง 2 บริษัท โดยวางเป้าหมายระยะยาวเพื่อก้าวขึ้นสู่บริษัทประกันวินาศภัยในระดับแนวหน้าของประเทศ ภายใน 5 ปี ด้วยเป้าหมายของเบี้ยประกันภัยที่เติบโตเป็น 2 เท่า หรือกว่า 7,000 ล้านบาท
นางกฤตยา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง วัตถุประสงค์หลักในการควบกิจการของทั้ง2บริษัทครั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจประกันวินาศภัย จากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสภาวะการแข่งขันในธุรกิจประกันวินาศภัยที่ทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ รวมทั้งเพื่อรองรับกับนโยบายการเปิดเสรีประกันภัยในอนาคต
ในด้านแผนการดำเนินธุรกิจหลังการควบกิจการ จะทำให้บริษัทสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นการใช้ระบบเครือข่ายสารสนเทศร่วมกัน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งการจัดสรรการใช้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ นโยบายหลักในด้านบุคลากรนั้น บริษัทจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน แต่จะมีการจัดสรรพนักงานในสายธุรกิจใหม่ ที่อาจจะมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับการเข่งขันในอนาคต
ด้านนางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากขั้นตอนการควบกิจการเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการจัดตั้ง “บริษัทประกันวินาศภัยขึ้นใหม่” ซึ่งจะมีฐานเบี้ยประกันภัยที่หลากหลายและครอบคลุม โดยจะมีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสม โดยบริษัทใหม่นี้ จะมีฐานเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณร้อยละ 35 ขณะที่มีฐานเบี้ยประกันอัคคีภัยประมาณร้อยละ 28 ส่งผลดีต่อการลดความเสี่ยงในด้านการดำเนินงาน ที่ไม่มีการพึ่งพารายได้จากผลิตภัณฑ์หลักใดเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทที่มีในด้านต่างๆ เป็นการเสริมกันอย่างลงตัวและเหมาะสม ทั้งด้านการรับประกัน การตลาด คู่ค้าและพันธมิตร โดยบริษัทใหม่จะมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ทั้งผ่านสถาบันการเงินหรือแบงก์แอสชัวรันส์ ประมาณร้อยละ 34 ตัวแทนและนายหน้าประมาณร้อยละ 31 ทีมขายตรงประมาณร้อยละ 16 พันธมิตรประกันภัยรถยนต์ประมาณร้อยละ 15 รวมทั้งช่องทางการตลาดตรง เช่น การขายประกันภัยผ่านโทรศัพท์ ประมาณร้อยละ 4
นางกฤตยา ล่ำซำ ได้เปิดเผยต่อว่า ในส่วนของภัทรประกันภัยซึ่งมีเงินกองทุนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดมากนั้น คณะกรรมการบริษัทได้มีมติประกาศจ่ายเงินปันผลพิเศษ 50 บาทต่อหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นตามที่มีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 5 พ.ย. 2550 โดยจะจ่ายภายในวันที่ 9 พ.ย. 2550
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ได้เปิดเผยถึงมติคณะกรรมการบริษัทเมืองไทยประกันภัย ที่อนุมัติให้บริษัทมีการปรับมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น จากหุ้นละ 100 บาทเป็น หุ้นละ 10 บาท ทำให้บริษัทเมืองไทยประกันภัยมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 39 ล้านหุ้น ที่ทุนจดทะเบียน 390 ล้านบาท
หลังการจ่ายปันผลของภัทรประกันภัยและการปรับมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นบริษัทเมืองไทยประกันภัยแล้วนั้น จะทำให้บริษัทใหม่มีทุนจดทะเบียน 590 ล้านบาท ณ มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท หรือเท่ากับ 59 ล้านหุ้น โดย 1 หุ้นของภัทรประกันภัย จะสามารถแปลงเป็น 1.9588 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นของเมืองไทยประกันภัย จะสามารถแปลงเป็น 0.5083 หุ้นในบริษัทใหม่
ในด้านเงื่อนไขในการควบกิจการนั้น ทั้ง 2 บริษัท ต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละแห่งเพื่อขออนุมัติการดำเนินการควบกิจการ ต้องมีการขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ รวมถึงผู้เอาประกันภัยทุกราย ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้ระยะเวลาของการเริ่มดำเนินการของบริษัทใหม่ คาดว่าจะประมาณเม.ย. 2551
นางกฤตยา ล่ำซำ ยังได้พูดถึงความมั่นคงของบริษัททั้ง 2 แห่งที่เมื่อมีการควบกันจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกัน ลูกค้า และคู่ค้าทุกราย ในด้านความมั่นคงของเงินกองทุนที่จะมีเงินกองทุนสูงกว่า 10 เท่าที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้ หรือ ประมาณกว่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของธุรกิจประกันวินาศภัย และเป็นการสร้างความมั่นใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ รวมถึงการบริการก่อนและหลังการขาย โดยคงไว้ซึ่งมาตรฐานบริษัทประกันวินาศภัยดีเด่นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง
สำหรับรายละเอียดด้านโครงสร้างการบริหารจัดการ รวมทั้งโครงสร้างผู้บริหาร ชื่อบริษัทใหม่ และรายละเอียดแผนธุรกิจนั้น ทั้ง 2 บริษัทจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อวางนโยบายและกำหนดกรอบการบริหารจัดการอย่างละเอียดต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO