สานฝันเติมชีวิตให้เยาวชนได้เล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง...คือ ผลผลิตชิ้นงามที่พร้อมเจริญเติบโตเพื่อชาติ

พฤหัส ๒๓ สิงหาคม ๒๐๐๗ ๑๖:๒๙
กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
การศึกษาคือรากฐานของการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนมีโอกาสรับการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นการผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีค่าให้กับประเทศชาติ ชาตรี โสภณพนิช กรรมการบริหาร มูลนิธิชิน โสภณพนิช จึงได้จัดพิธีมอบทุนการศึกษาประจำปี พ.ศ. 2550 ของ มูลนิธิชิน โสภณพนิช ให้แก่นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 372 ทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,958,500 บาท ณ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม
ชาตรี โสภณพนิช กรรมการบริหาร มูลนิธิชิน โสภณพนิช เปิดเผยว่า “ ด้วยคุณพ่อ ชิน โสภณพนิช เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง และคิดว่าคนเราจะอยู่ในสังคมที่ดีไม่ได้ หากขาดการศึกษา มูลนิธิฯ จึงได้ส่งเสริมการศึกษามาตั้งแต่ปี 2521 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 29 ปี เพื่อร่วมรับผิดชอบและแบ่งเบาภาระทางสังคม และพัฒนาศักยภาพการศึกษาให้กับเยาวชนของชาติ ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับทุนของมูลนิธิฯ กว่า 10,000 คน โดยส่วนหนึ่งได้สำเร็จการศึกษา มีหน้าที่การงานที่สามารถเลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัว และนำความรู้ที่ได้รับตอบแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งผมเองปลาบปลื้ม ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น โดยผ่านการศึกษา”
คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการผู้อำนวยการ มูลนิธิชิน โสภณพนิช กล่าวเสริมว่า “ เมื่อปีที่แล้ว มูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นถึงการขาดแคลนด้านบุคลากรการแพทย์ จึงได้จัดโครงการสนับสนุนทุนการศึกษา ให้กับนิสิตนักศึกษาแพทย์ และพยาบาล ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขึ้นในปี 2549 ด้วยหวังว่าจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนหมอและพยาบาลในต่างจังหวัด โดยผู้รับทุนจะต้องเป็นนักศึกษาที่มีฐานะยากจน ตั้งใจเรียน และมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดหรือใกล้เคียงกับสถานที่เรียน เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาภูมิลำเนาของตัวเอง เฉกเช่นเมื่อปี 2539 ที่ทางมูลนิธิฯ ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงได้สนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาให้แก่ภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เพราะภาควิชานี้ ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ให้ผู้เรียนได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อว่าเมื่อจบแล้วจะได้ตั้งใจทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ วิศวกรสิ่งแวดล้อม อาจจะมีรายได้ที่น้อยกว่าวิศวกรสาขาอื่นๆ นักศึกษาหลายคน ที่เรียนแล้วเกิดปัญหาด้านการเงิน ทำให้ฉุกคิด และย้ายภาควิชาไปยังสาขาอื่นๆ ดังนั้น การพิจารณามอบทุนการเรียนให้กับภาควิชานี้ ก็เป็นการส่งเสริมให้ประเทศชาติได้มีฐานและองค์ความรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทุนทั้งหมดที่มอบให้ ไม่มีข้อผูกมัด แต่ทางมูลนิธิก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ที่ได้รับจะนำไปพัฒนาและช่วยเหลือคนในถิ่นกำเนิดของตน”
บรรยากาศภายในงาน เต็มไปด้วยความรู้สึกปลื้มปิติยินดี ของเหล่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว และเยาวชนจากสถาบันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่เข้าร่วมรับทุนจากมูลนิธิชิน โสภณพนิช โดย ธนัญญา มงคลนิมิตร - น้องป้อ บัณฑิตใหม่จาก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะบัญชี เปิดใจว่า “ที่มาร่วมงานครั้งนี้ ตั้งใจที่จะมากราบขอบพระคุณ มูลนิธิฯ ที่ได้ให้โอกาสตัวเอง และน้องชาย ได้มีโอกาสเรียน จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยการให้ทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3 ปี ภายหลังจากการสูญเสียมารดาที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ซึ่งสร้างผลกระทบในการดำรงชีวิตทุกด้าน จึงอยากฝากถึงน้องๆ ที่ได้รับทุนทุกคน จงตั้งใจเรียน เพราะโอกาสไม่ได้วิ่งเข้ามาหาได้ง่ายๆ เมื่อได้สิทธิ์นั้นแล้ว พยายามเก็บเกี่ยวความรู้ที่จะได้รับอย่างเต็มที่ แค่เป็นคนดี อยู่ในคุณธรรม ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการตอบแทนสังคม”
อีกหนึ่งผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ภูริภัทร์ เลิศเพ็ญเมธา วิศวกรสิ่งแวดล้อม บริษัทเอกชน เปิดเผยว่า “ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ปี 2539 หลังจากเข้าเรียนภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยผ่านการสัมภาษณ์ จากคณะอาจารย์ถึงเรื่องความตั้งมั่น ที่จะส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของบ้านเรา ทุนที่ได้อย่างต่อเนื่อง จนจบปริญญาตรี เป็นทั้งค่าเทอมและค่าตำราเรียน วันนี้ทำงานเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อม ก็เป็นโอกาสดี ที่จะได้ตอบแทนสังคม โดยนำความรู้มาสร้างประโยชน์แก่ประเทศ อาทิ งานติดตั้งระบบและปรับปรุงเกี่ยวกับเตาเผาของโรงพยาบาลหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ชาวบ้านเดือดร้อน จากเตาเผา ที่ก่อกลุ่มควันขนาดใหญ่ เกิดความร้อน จนต้นไม้เหี่ยวเฉา หรือ กรณีโรงงานผลิตพริกแกงย่านนครปฐม ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นของพริก โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อลดมลพิษทางกลิ่น ไม่ให้เล็ดลอดออกมาภายนอก เป็นความภูมิใจที่ได้นำความรู้มาช่วยเหลือสังคมได้”
ในขณะที่ ผศ.ดร.บุญยฤทธิ์ ปัญญาภิญโญผล กล่าวว่า “ผมได้รับทุนติดต่อ 3 ปี จนจบปริญญาตรี จุฬาฯ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เหตุที่เลือกเรียน เนื่องจากช่วงนั้นเริ่มเล็งเห็นว่า สิ่งแวดล้อมมีผลกับความเป็นอยู่ของคนในอนาคต และเริ่มมีการบัญญติกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันในฐานะเป็น อาจารย์ที่มหิดล ได้ใช้วิชาที่เล่าเรียนมาอย่างเต็มที่ เพื่อปลูกฝังนิสิต นักศึกษา ทุกคน ให้มีใจรักในสิ่งแวดล้อม และย้ำถึงความร่วมมือกัน จึงจะช่วยขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งภาวะโลกร้อนที่กำลังเผชิญกันในปัจจุบัน ง่ายๆ นะครับ ขอให้เริ่มจากตัวเองก่อน เรื่องของขยะมูลฝอย การใช้น้ำ การใช้ไฟ การขับรถ”
ส่วนน้องๆ ที่อยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียน วันนิภา ประสงค์กุล น้องเอ้ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 กับ ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิต คือได้ช่วยเหลือคนไข้ที่ยากจนในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน กับความใฝ่ฝันที่จะเป็น แพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชุม ที่ให้การรักษาคนไข้เกี่ยวกับโรคทั่วๆ ไป เปิดใจว่า “ทุนจาก มูลนิธิฯ เปรียบเหมือนการต่ออนาคตด้านการศึกษา เพราะครอบครัวยากจนมาก พ่อแม่ทำนาอยู่ที่บุรีรัมย์ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เนื่องจากเป็นเด็กที่เรียนดี และเป็นเด็กโควต้าของจังหวัด ในเทอมแรกที่ได้เข้าเรียนพ่อแม่ ต้องไปกู้เงินนอกระบบ เพื่อให้ลูกได้เรียน เมื่อทราบข่าวจากอาจารย์ที่คณะ จึงได้เขียนจดหมายถึง มูลนิธิฯ และได้รับการตอบรับให้เข้าเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุน ซึ่งขณะนั้นมูลนิธิฯ ได้จัดตั้ง “โครงการสนับสนุนการศึกษานิสิตนักศึกษาแพทย์และพยาบาลที่ขาดแคลนทุนทรัพย์” เป็นปีแรก เงินจำนวน 60,000 บาทต่อปี ถือเป็นเงินจำนวนมากที่ไม่รู้จะหาได้ที่ไหน จึงใช้ทุกบาท ทุกสตางค์ให้คุ้มค่ากับการได้รับมา ในอนาคตเมื่อสำเร็จการศึกษา จะนำความรู้ทั้งหมดที่ได้รับ กลับคืนสู่สังคมภูมิลำเนา ที่สัมผัสมาตั้งแต่เด็ก ว่าจำนวนหมอไม่เคยเพียงพอต่อคนไข้ที่บุรีรัมย์เลย”
นาตยา ยอดจันทร์ — น้องเก๋ นักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร “ดิฉันสัญญาค่ะว่าจะตั้งใจเรียน และจบออกมาเป็นพยาบาลที่ดี และตั้งใจจะกลับไปประจำที่จังหวัดพิจิตรบ้านเกิด เพราะใฝ่ฝันอยากเป็นพยาบาลมาตั้งแต่เด็ก เมื่อได้รับทุนการศึกษาครั้งนี้ ยิ่งทำให้ต้องใจเรียนมาขึ้น ให้สมกับสิ่งที่ได้รับการหยิบยื่นให้จากทางมูลนิธิฯ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัว เพราะพ่อแม่ค่อนข้างยากจน ประกอบอาชีพหลักคือทำไร่ ทำนา จำได้เสมอว่า เวลาจะเปิดเทอมแต่ละครั้ง พ่อกับแม่ต้องไปกู้ยืมเงินมาให้ลูกได้เรียนหนังสือ ในเมื่อได้รับโอกาสแบบนี้จึงเปรียบเหมือนเป็นประตูก้าวไปสู่ความสำเร็จของอนาคต การได้มีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วย ที่ขาดแคลนเงินค่ารักษา การเป็นคนที่ประพฤติดี และเป็นเสาหลัก ให้กับพ่อและแม่ คือสิ่งที่จะตอบแทนคืนให้กับสังคมได้”
สิริลักษณ์ พาประจง - น้องจูน นักศึกษาชั้นปี 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “ดีใจมากที่ได้รับทุนนี้ เพราะค่าเล่าเรียนและค่ากินอยู่ ค่อนข้างที่จะเป็นภาระหนักสำหรับครอบครัว ตอนนี้ครอบครัวอยู่ที่สัตหีบ คุณพ่อรับราชการ คุณแม่เป็นแม่บ้าน มีน้องสาวอีก 1 คน ก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษานี้ จะรู้สึกกลุ้มใจมากทุกครั้ง เมื่อต้องเอ่ยปากขอเงินซื้อหนังสือตำราเรียน แต่วันนี้ สามารถเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่ต้องกลัดกลุ้ม ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ ที่ต้องแบกภาระเลี้ยงดูน้องสาวอีกคน”
อภิราม เงาศรี — อ๋อง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศิลปากร กล่าวว่า “พิการทางสายตามาแต่กำเนิด ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนของผมเลย แต่ปัญหาหลักอยู่ที่เงินที่จะมาใช้จ่ายทั้ง ค่าเทอม ค่าอาหาร และค่าที่พัก คือสิ่งที่ผมต้องหามาแบ่งเบาภาระของครอบครัวให้ได้ พ่อแม่ของผมทำนาอยู่ที่ศรีษะเกศ ผมเป็นลูกคนเดียวที่มีโอกาสได้เรียนในระดับนี้ ผมจึงต้องขยัน และตั้งใจเรียนให้มากที่สุด อย่างน้อยความรู้ที่ได้รับจากการได้ทุนการศึกษาของมูลนิธิฯ ก็คงจะทำให้ครอบครัวของผมลืมตาอ้าปากได้ในอนาคต ผมสัญญาว่าจะนำความรู้ไปพัฒนาบ้านเกิด และอยากฝากน้องๆ ที่ได้รับโอกาสครั้งนี้ อย่างผมจงตั้งใจเรียน เป็นคนดี แค่นี้ก็สามารถตอบแทนสังคมได้ดีที่สุดแล้ว” นี้คือคำกล่าวทิ้งทายของน้องอ๋อง ผู้ที่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคทั้งปวง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ โทร 0-2434-8300
สุจินดา, แสงนภา, อรุนฤดี
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ