“นายกสมาคมฯโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก” ชี้โรคปอดบวมแชมป์คร่าชีวิตเด็ก 2 ล้านคน หวั่นเป็นมฤตยูร้ายที่ถูกลืม

อังคาร ๒๑ สิงหาคม ๒๐๐๗ ๑๐:๒๘
กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
“นายกสมาคมฯโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก” ชี้โรคปอดบวมแชมป์คร่าชีวิตเด็ก 2 ล้านคน หวั่นเป็นมฤตยูร้ายที่ถูกลืม ผนึกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สร้างเครือข่ายแนวร่วมเฝ้าระวัง
“นายกสมาคมฯโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก” ชี้โรคปอดบวมแชมป์คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกปีละกว่า 2 ล้านคน สูงกว่าโรคเอดส์และมาลาเรีย เผยสาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยพบมากในทวีปแอฟริกาและเอเชีย เผยยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลกระบุโรคปอดบวมเป็นมฤตยูร้ายที่ถูกลืม แนะให้ทุกประเทศเฝ้าระวังและป้องกัน ผนึกกำลังกับ 2 องค์กรทางการแพทย์ด้านสุขภาพเด็กของไทย “สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย” และ “สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย” ลงนามสร้างเครือข่ายแนวร่วมความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพจัด “Pneumococcal Disease Conference (PDC)” ประชุมแพทย์ระดมสมองหาทางสร้างความตระหนัก ระวัง และป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ขึ้นที่ประเทศไทย ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 17-19 ส.ค.2550 ที่ผ่านมา
โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ, 20 สิงหาคม 2550 : สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก ได้ร่วมกันงานจัดแถลงข่าว “การลงนามสร้างเครือข่ายแนวร่วมความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง(ไอพีดี)ในเด็กของไทยและทั่วโลก” โดยมี ศ.นพ.รอน ดาแกน นายกสมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก (President of World Society for Pediatric Infectious Diseases) ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว
ศ.นพ.รอน ดาแกน นายกสมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก เปิดเผยว่า ข้อมูลจากเอกสารขององค์การยูนิเซฟ ปี 2549 ระบุว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่ทำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตในปีหนึ่งๆ มีจำนวนมากกว่า 2,000,000 คน/ปี ซึ่งสูงกว่าโรคร้ายอย่างโรคเอดส์ และไข้มาลาเรีย โดยในจำนวนนี้มีจำนวนมากกว่า 400,000 ราย หรือ 1 ใน 5 เสียชีวิตจากภาวะปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยจะพบมากในแถบแอฟริกาและเอเชีย ดังนั้นทุกองค์กรทั่วโลกจึงควรร่วมมือกันเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก ที่กำลังอยู่ในวัยย่างเข้าสู่วัยเรียนนี้
โดยเชื้อโรคดังกล่าวจะอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของเด็ก และผู้ใหญ่โดยทั่วไป แต่จะพบมากในเด็กเล็กถึง 65% แต่ส่วนมากจะไม่แสดงอาการ เมื่อภูมิคุ้มกันต่ำเชื้อนี้จะรุกเข้าสู่ร่างกายและอวัยวะต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดโรคปวดบวมแล้ว ยังทำให้เกิดกลุ่มอาการป่วยหลายอย่างที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนทำให้เกิดหูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ เชื้อตัวนี้อาจรุนแรงลุกลามเข้าไปในปอดทำให้เป็นปอดบวม และเชื้ออาจรุกรานสู่กระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้ติดเชื้อขั้นรุนแรงในกระแสเลือด และสมองทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงหรือที่เรียกว่า โรคไอพีดี โดยจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็กและอาจทำให้เด็กเป็นปัญญาอ่อนหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงพยายามจะผลักดันให้ทารกทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีกับทุกคน หลังจากทำการหาสาเหตุจนพบว่าเด็กทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคปอดบวมนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด และเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้วโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตจากปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสจนเสียชีวิตก็จะน้อยลงมาก ซึ่งมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนไอพีดีที่ฉีดป้องกันเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสในเด็กเล็ก สามารถช่วยป้องกันโรคปอดบวมเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสในเด็กเล็กได้ โดย Lancet วารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลก ฉบับเดือนเมษายน 2550 ได้ตีพิมพ์รายงานวิจัยของทีมแพทย์สหรัฐอเมริกา พบว่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปีคศ. 1997 — 2004 โดยสำรวจคนไข้ที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคปอดบวมจำนวน 10,787,865 คน โดย 443,822 คน เป็นโรคปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส
ผลของการศึกษาพบว่าหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (ไอพีดี) ที่ฉีดให้กับเด็กเล็กอยู่ในโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติตั้งแต่ปี คศ. 2000 อัตราการการติดเชื้อของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อันเนื่องมากจากโรคปอดบวมมีแนวโน้มลด ลงถึง 39% และอัตราการเข้ารับการรักษาจากโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสก็ลดลงจากก่อนหน้านี้มากถึง 65% ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุดนอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังสำรวจพบว่าตัววัคซีนไอพีดีนี้ นอกจากจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งนำมาสู่การเกิดโรคปอดบวม และยังพบว่าตัววัคซีนยังมีผลทางอ้อมในช่วยลดการแพร่เชื้อนิวโมคอคคัสจากเด็กไปสู่พ่อแม่รวมทั้งผู้สูงอายุในครอบครัวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไอพีดี ได้ด้วย
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในเด็กเล็กนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อรุนแรงที่ทำให้เด็กทั่วโลกเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น โรคปวดบวม ซึ่งในเบื้องต้นทุกๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จะต้องร่วมมือกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อรุนแรงให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีอัตราการเกิดของประชากรคนไทยอยู่ในระยะถดถอย เหลือเพียงร้อยละ 0.2 ดังนั้น หากเราจะต้องเสียสูญเสียทรัพยากรบุคคลตั้งแต่อายุยังน้อยเพิ่มขึ้นจะทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้เยาวชนที่จะเติบโตเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศต่อไป
สำหรับในส่วนของทางสมาคมกุมารแพทย์ฯ นั้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าวอยู่แล้ว และหลังจากที่สมาคมกุมารแพทย์แห่งโลกและองค์การอนามัยโลก ได้ขอความร่วมมือผ่านทางสมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลก รวมทั้งสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ให้สร้างความตระหนักและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเล็ก (ไอพีดี) และให้พิจารณานำวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีนไอพีดี) นี้มาใช้ในเด็กเล็กตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทางสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้นำไปสู่ทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กไทย โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แพทย์ บุคลากรการแพทย์ และประชาชนชาวไทย ได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคและเห็นความสำคัญในการป้องกันโรคติดเชื้อในเด็กเล็ก ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง การจัดประชุมวิชาการแพทย์ การสัมมนาสำหรับประชาชน และในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางสมาคมกุมารแพทย์ฯ ยังได้สร้างแนวร่วมความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้องค์กร ASAP (Asian Strategic Alliance for Pneumococcal disease prevention) และการลงนามสร้างเครือข่ายแนวร่วมความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสของทางสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก
“แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของบ้านเราก็คือ ที่ผ่านมายังไม่มีการเก็บข้อมูลของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง (ไอพีดี) อย่างจริงจัง ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้ประเทศไทยเราควรจะต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันต่อไป โดยภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน” ศ.พญ.อุษา กล่าว
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน อุณหภูมิและความชื้น เป็นช่วงที่เหมาะกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นว่าในช่วงหน้าฝนจะมีคนไปหาหมอมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทานแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ดังนั้นเราจึงต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ โดยหากพิจารณาจากสถิติของประเทศไทยจะพบว่าการเสียชีวิตของเด็กเล็กนั้น อันดับหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะที่มีความสำคัญตั้งแต่แรกเกิด รองลงมาคือ โรคอุจจาระร่วง ส่วนโรคปอดบวมก็เป็นปัญหาที่เกิดเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง
รวมถึงโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสในขั้นรุนแรงที่เรียกว่า เป็นโรคติดเชื้อไอพีดี (IPD; Invasive Pneumococcal Disease) ก็พบในเด็กไทยเช่นกัน แต่ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจน เนื่องจากการเพาะเชื้อในปอดเพื่อตรวจหาเชื้อนั้นยังทำได้ยาก ประกอบกับโรคไอพีดีจะมีอาการเป็นไข้คล้ายกับโรคติดเชื้อทั่วไป คนส่วนใหญ่จึงมักคิดว่าเป็นไข้ธรรมดาและไม่ให้ความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยโรค ดังนั้นเมื่อเด็กเล็กต้องเสีย ชีวิตเป็นปอดบวมจากโรคไอพีดีจึงยังไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลรายงานสถิติอย่างจริงจัง
ปัจจุบันโรคไอพีดีจะสามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับวิธีทางการแพทย์อื่นๆได้ แต่ปัญหาในการรักษาที่สำคัญคือ การที่เชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเชื้อมีการพัฒนาให้ทนต่อยามากขึ้นทำให้การรักษาทำได้ยาก ต้องให้ยาขนาดสูงเป็นเวลานานเสียค่าใช้จ่ายมากในการนอนโรงพยาบาลและเดินทางไปพบแพทย์ ถ้ามารับการรักษาช้าอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการได้ หากเด็กได้รับวัคซีนนี้ก็จะช่วยป้องกันให้เด็กปลอดจากโรคนี้ได้
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา เช่น ในประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา อิตาลี ออสเตรเลีย อเมริกา ฯลฯ ประเทศเหล่านี้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีให้แก่เด็กแรกเกิดทุกคนเพราะตระหนักรู้ว่าโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสนั้นหากเกิดขึ้นแล้วจะมีอัตราการตายและความพิการสูง อย่างไรก็ตาม โอกาสที่วัคซีนไอพีดีจะเป็นวัคซีนพื้นฐานในประเทศไทยเหมือนกับโรคอื่น เช่น โปลิโอยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการฉีดวัคซีนโรคไอพีดีในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของราคาที่สูง
“ปัจจุบันบ้านเรามีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงที่สุดโดยฉีดทั้งหมด 3-4 เข็ม แต่ถ้าเด็กอายุ 2-5 ปีจะฉีดเพียง 1 เข็ม การฉีดวัคซีนไอพีดีให้แก่เด็กเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่นำไปสู่การเสียชีวิตและพิการทางสมองได้ แต่เวลานี้เนื่องจากราคาค่อนข้างสูงดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีฐานะการเงินในระดับหนึ่ง ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้อาจจะไม่มากนักหากต้องแลกกับการที่ลูกหลานไม่ต้องเสี่ยงกับการเกิดภาวะแทรก ซ้อนที่ตามมา ก็ยังถือว่าคุ้มค่า แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยโอกาสการเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนตัวนี้ยังน้อยมาก" ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากการพัฒนาการของเชื้อโรคร้ายต่างๆ ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและรุนแรงกว่าในอดีต ดังนั้น การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของโรค วิธีการป้องกัน การเฝ้าระวังการเกิดโรค จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยให้พ่อแม่มีการตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย ยิ่งในปัจจุบันที่มีข้อมูลทางการแพทย์ใหม่ๆ แพทย์จำเป็นต้องให้ข้อมูลทั้งหมดแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจเลือกเอง อย่าตัดสินใจแทนผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ตัวผู้ป่วยก็ต้องกระตือรือร้นหาความรู้เองด้วย เพื่อจะได้ก้าวทันโรคและวิทยาการแพทย์ใหม่ๆ และป้องกันก่อนสายเกินแก้ และการรักษาความสะอาดการมีสุขภาพดีและแข็งแรง ก็จะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ)
คุณวราภรณ์ จันทร์เพ็ง (ติ๊ก)
คุณมยุรี แสงมณี (หนึ่ง)
โทร.0-2-718-3800-5 ต่อ 133, 135 และ137 หรือ 081-483-7336
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ