กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ก.พาณิชย์
นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เอกอัครราชทูตเปรูประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือเรื่องการเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะนักธุรกิจไทยไปเยือนเปรู ในช่วงวันที่ 2 — 13 มิถุนายน 2550 ตามคำเชิญของรัฐบาลเปรู เพื่อสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทย — เปรู รวมทั้งหารือเรื่องการบังคับใช้การเร่งลดภาษีสินค้า(Early Harvest ) ภายใต้ FTA ไทย — เปรู ด้วย
ในการหารือกันนั้นไทยได้ยกเรื่องเปรู ประกาศห้ามนำเข้าข้าวจากไทย เนื่องจากเกรงปัญหาไข้หวัดนก และมีการกำหนดมาตรฐานการรมควันที่สูงกว่ามาตรฐานโลก ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้หารือให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นทางการ ฝ่ายไทยจึงขอให้เปรูเร่งรัดแก้ไขประกาศของตน ทั้งนี้ คาดว่าการเยือนเปรูของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะสามารถทำให้การส่งออกข้าวไปเปรูสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ฝ่ายเปรูได้เสนอขอให้ไทยเป็นจุดกลางด้านต่างๆ( hub) ของเปรูในกลุ่มอาเซียน และเปรูจะเป็น hub ของไทยสู่กลุ่มประเทศแอนเดียน(อยู่ระหว่างอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้) และขยายไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น บราซิล เพราะเปรูอยู่ระหว่างการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างเปรู — บราซิล หลายพันกิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางรถบรรทุกระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ในการขยายการค้าได้อย่างเต็มที่
เปรู เป็นคู่ค้าอันดับที่ 72 ของไทย ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2545 — 2549) ไทยมีมูลค่าการค้ากับเปรู โดยเฉลี่ยปีละ 91.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาตลอด แต่ในปี 2548 ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลเปรู ซึ่งมีมูลค่า 0.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับปี 2549 ไทยกับเปรูมีการค้ารวมมูลค่า 149 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 12
ด้านความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทย — เปรู แม้การค้าระหว่างไทยกับเปรู คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เพียงร้อยละ 0.06 ของมูลค่าการค้าของไทยทั้งหมด แต่นับจากปี 2547 ซึ่งทั้งสองประเทศได้เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกัน การค้ารวมได้เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้สินค้าส่งออกของทั้งสองฝ่ายส่วนใหญ่ ไม่แข่งขันกันแต่กลับเกื้อหนุนกันโดยล่าสุด ไทย — เปรู สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าประมาณร้อยละ 70 จึงได้จัดทำพิธีสารเพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งลงนามเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2548 และต่อมา ได้ตกลงเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของสินค้าแต่ละรายการ จึงได้จัดทำพิธีสารเพิ่มเติม ซึ่งลงนามเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2549 ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้
สำหรับการนำคณะนักธุรกิจไปเยือนเปรูในครั้งนี้ จะเป็นหนทางช่วยเพิ่มการค้า การลงทุนของทั้งสองประเทศ มากยิ่งขึ้นประกอบกับ FTA ไทย — เปรู จะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 2550 การจัดให้นักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายได้พบปะกันจึงเป็นประโยชน์ อย่างยิ่ง นอกจากนี้จะถือโอกาสเยือนประเทศในอเมริกาใต้(ละตินอเมริกา)อื่นด้วยคือ บราซิล ชิลี และอาร์เจนตินาด้วย ทั้งนี้ นักธุรกิจที่สนใจในตลาดเปรู และละตินอเมริกา และประสงค์จะร่วมคณะ สามารถติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์