กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--TCELS
TCELS จับมือ มหาวิทยาลัยชั้นนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้ภาคอุตสาหกรรม ปกป้องงานวิจัยที่พร้อมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาศาสตร์ออกสู่ตลาด ก่อนถูกต่างชาติสอยผลงานลงจากหิ้ง
นายสุริยัน ปานเพ็ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ส่วนบริหารและอำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า ปัจจุบันการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นคำที่ถูกกล่าวขานกันมาก เนื่องจากมีการละเมิดกันบ่อยครั้ง และโดยเฉพาะประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง จึงเป็นเป้าหมายของการเข้ามาหาประโยชน์จากเรื่องพันธุกรรม TCELS เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้จัดตั้ง สำนักงานบริหารจัดการเทคโนโลยี(TCELS Technology Management Office : TTMO) โดยเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย ร่วมกันบริหารจัดการองค์ความรู้ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อถ่ายทอดให้กับภาคอุตสาหกรรมที่จะนำงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ออกสู่ตลาด
“ขณะนี้งานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ที่พร้อมออกสู่ตลาด มีอยู่มากมายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ TCELS จึงเป็นอีกหน่วยหนึ่งที่ช่วยนักวิจัยในการรวบรวมงานวิจัยดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพและทำการตลาดต่อไป ในขั้นตอนนี้ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจดสิทธิบัตรเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งที่ผ่านมาคนมักมองข้ามและเกิดปัญหาต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญาของคนไทยไปหลายรายการ” นายสุริยัน กล่าว
สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำนั้น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCELS กล่าวว่า ขณะนี้มีTCELS พร้อมที่จะช่วยเหลือ 4 แห่งคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้ มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจพร้อมออกสู่ตลาดมากมาย และคาดว่าในอนาคตอันใกล้จะมีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง รวมทั้งสถาบันวิจัยต่าง ๆ จะเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ภูมิปัญญาของคนไทยจะได้รับการปกป้องจากการละเมิดสิทธิบัตรที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net