ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตพันธบัตร “สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน” ที่ระดับ “AA-/Stable”

ศุกร์ ๒๕ พฤษภาคม ๒๐๐๗ ๐๘:๓๐
กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ (EFAI07OA, EFAI08OA) ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความคาดหมายที่สถาบันฯ จะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลจากการมีภารกิจหลักในการจัดหาเงินให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการสร้างเสถียรภาพของราคาน้ำมันดังกล่าวเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่จะลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจมีต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงการที่รัฐบาลตัดสินใจลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงได้อย่างมีนัยสำคัญโดยยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเบนซินตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 และราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถาบันฯ จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป อีกทั้งจะไม่มีการนำนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลับมาใช้อีก และสถาบันฯ จะยังคงมีอำนาจตามกฎหมายในการเบิกเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ชำระหนี้ที่ก่อโดยสถาบันฯ ได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ต่อกรณีการออกตราสารหนี้ของสถาบันฯ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการสร้างความมั่นใจว่าสถาบันฯ จะมีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามกำหนด ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติที่จะสนับสนุนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานในการบริหารสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งเพื่อให้สถาบันฯ สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้และเจ้าหนี้ของสถาบันฯ ได้ครบถ้วนตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดใดก็ตามที่อาจส่งผลกระทบถึงฐานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและ/หรือความสามารถในการชำระหนี้ของสถาบันฯ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจะประสานงานกับรัฐบาลเพื่อให้มีมาตรการในการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ถือตราสารหนี้และเจ้าหนี้ของสถาบันฯ ให้ได้รับชำระหนี้ ในเดือนตุลาคม 2549 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานได้มีมติในการปรับเพิ่มเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซลจาก 2.50 บาท เป็น 4.00 บาทต่อลิตร ซึ่งการปรับครั้งนี้แสดงถึงนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนสถานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นการสนับสนุนให้สถาบันฯ มีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างครบถ้วนตามกำหนดเวลา
นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2549 อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังถูกปรับขึ้นทุกประเภท โดยเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซิน 95 ถูกปรับขึ้นจาก 2.50 บาทต่อลิตร เป็น 3.46 บาทต่อลิตร ในขณะที่เงินส่งของน้ำมันเบนซิน 91 ถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.30 บาท เป็น 3.26 บาทต่อลิตร เงินส่งของน้ำมันแก๊สโซฮอลถูกปรับขึ้นจาก 0.54 บาทต่อลิตร เป็น 1.50 บาท ซึ่งเท่ากับเงินส่งน้ำมันดีเซลที่ถูกปรับขึ้นจาก 0.95 บาทต่อลิตร เป็น 1.50 บาทต่อลิตร การปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้รายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจาก 2,500-3,500 ล้านบาทเป็น 4,000-4,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปริมาณการบริโภคน้ำมันไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นส่งผลทำให้รายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อเดือนลดลงเนื่องจากอัตราเงินส่งกองทุนฯ ของน้ำมันประเภทดังกล่าวถูกกำหนดให้น้อยกว่าน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน 95 ค่อนข้างมาก ซึ่งจากสมมุติฐานดังกล่าวจะส่งผลให้อัตรากำไรก่อนภาษีและดอกเบี้ยจ่ายต่อภาระหนี้ของสถาบันฯ อยู่ที่ประมาณ 1.9 เท่าในปี 2550 และ 2.8 เท่าในปี 2551 เนื่องจากคาดว่าภาระหนี้ของสถาบันฯ จะลดลงในปี 2551
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งกล่าวว่าปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่สถาบันฯ ไม่มีอำนาจในการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ จากผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงหรืออัตราการชดเชยราคาน้ำมันจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเพิ่มเติมจากการที่รัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้หรือค้ำประกันหนี้พันธบัตรของสถาบันฯ ได้ตามกฎหมาย
อันดับเครดิตของพันธบัตรสะท้อนถึงโครงสร้างและลำดับการชำระหนี้ที่เหนือกว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของสถาบันฯ (ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและสถาบันฯ ซึ่งจะเป็นลำดับที่สูงกว่าภาระหนี้ของสถาบันฯ) อาทิ ภาระการชดเชยราคาก๊าซหุงต้มซึ่งมียอดคงค้างที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และได้ปรากฏในข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของสถาบันฯ และผู้ถือพันธบัตร โดยในแต่ละเดือน สถาบันฯ จะเบิกเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมดหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนฯ และสถาบันฯ รวมถึงค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการออกพันธบัตรทั้งหมดสำหรับเดือนนั้น แต่ไม่รวมเงินชดเชยสำหรับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำไปใส่ในบัญชีเงินสะสมเพื่อการชำระหนี้ให้มีเงินเพียงพอสำหรับการชำระในวันครบกำหนดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นในงวดถัดไป (แล้วแต่กรณี) ของจำนวนเงินต้นรวมของพันธบัตรและเงินกู้ตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งหมดที่สถาบันฯ ออกไปหรือทำการกู้ (แล้วแต่กรณี) ในแต่ละขณะ นอกจากนี้ ยอดเงินในบัญชีสะสมสำรองเพื่อการชำระหนี้ได้มีจำนวนครบ 5% ของจำนวนเงินต้นรวมของพันธบัตรและเงินกู้ตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งหมดที่สถาบันฯ ออกไปหรือทำการกู้ (แล้วแต่กรณี) ในแต่ละขณะแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เป็นต้นมา โดยมียอดเงินในบัญชีดังกล่าวประมาณ 2,900 ล้านบาทตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งคิดเป็น 11% ของจำนวนเงินต้นรวมของพันธบัตรและเงินกู้ตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งหมดที่สถาบันฯ ออกไปหรือทำการกู้ (แล้วแต่กรณี) ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย