กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย
กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกว่า 30 คน นำโดย ท.พ. สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย นายเอกพจน์ ยอดพินิจ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง สุราษฎร์ธานี นายปกครอง เกิดสุข ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกระบี่ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เครือรัฐออสเตรเลีย ผ่านทางเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย เพื่อขอให้รัฐบาลเครือรัฐออสเตรเลียจริงใจ-เป็นธรรม ไม่ใช้/เพิกถอนมาตรการ IRA ที่จะห้ามนำเข้ากุ้งไทย โดยมี Dr.Linda Corner อุปทูตฝ่ายการเกษตรออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย เป็นผู้รับมอบ
“กุ้ง เป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทย เป็นผลิตผลที่ได้จากการผลิตที่ใช้วัตุดิบและแรงงานในประเทศ (Local Content) กว่าร้อยละ 90 ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพลเมืองไทย หลายภาคส่วน จำนวนกว่า 1 ล้านคน จึงเป็นสินค้าที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับคนไทย เช่นเดียวกับที่สินค้าและผลิตภัณฑ์ นม และเนื้อ มีความสำคัญต่อประเทศและพลเมืองของออสเตรเลีย อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาของไทย ได้ดำเนินพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี มุ่งผลิตสินค้ากุ้งคุณภาพ มีความปลอดภัยสูง ด้วยแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ป้อนให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยความรับผิดชอบ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดกุ้งที่สำคัญๆต่างๆของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ฯลฯ ที่สำคัญที่ผ่านมาไม่เคยมีประวัติหรือรายงานว่า สินค้าและผลิตภัณฑ์กุ้งไทยไปสร้างความเสียหาย หรือนำเชื้อเข้าไปแพร่กระจายในประเทศเหล่านั้นเลย การที่รัฐบาลออสเตรเลียจะประกาศใช้ มาตรการไออาร์เอ เพื่อห้ามนำเข้ากุ้งไทย โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่า กุ้งไทยก่อให้เกิดโรคและปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย มิอาจรับได้”
ด้วยรัฐบาลไทยมีมาตรการที่เข้มแข็งในการควบคุมการระบาดของโรค เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก และออสเตรเลียกำลังนำปัญหาภายในประเทศ เรื่องการนำกุ้งไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น การนำกุ้งไปเป็นเหยื่อตกปลา มาทำให้ประเทศผู้ส่งออกเดือดร้อน เป็นการผลักภาระรับผิดชอบแทนที่จะแก้ปัญหาภายในประเทศของตัวเองนั้น เป็นข้อกำหนดที่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา มีเจตนาสร้างมาตรการเพื่อมากีดกันการค้าอย่างชัดเจน ที่ไม่มีประเทศใดในโลกทำมาก่อน ทั้งขัดต่อหลักการความร่วมมือ FTA ระหว่างไทย — ออสเตรเลีย ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยกว่า 300,000 คน มิอาจรับได้ เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทย ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมโดยรวม
ที่สำคัญ ไทย-ออสเตรเลียได้ทำเอฟทีเอระหว่างกัน ถือเป็นมิตรประเทศ ไม่น่าจะทำกับไทยแบบนี้ สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกระบี่ ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งตรัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งระนอง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสตูล ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งปัตตานี ซึ่งเป็นตัวแทนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเครือรัฐออสเตรเลีย แสดงความจริงใจต่อประเทศไทย และประชาชนชาวไทย ไม่ใช้มาตรการ IRA เพื่อห้ามนำเข้ากุ้งจากไทย เพราะการประกาศใช้มาตรการนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 1 ล้านคน ที่สำคัญผู้เลี้ยงกุ้งไทย ไม่ประสงค์ที่จะได้รับการปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกับผู้เลี้ยงไก่ไทย ที่วันนี้ถูกกีดกันการค้าด้วยข้อกล่าวอ้างและมาตรการทำนองเดียวกันจากออสเตรเลีย ให้ต้องต้มไก่ที่อุณหภูมิสูง เป็นเวลานาน แบบไม่สมเหตุสมผล จนไทยไม่สามารถส่งไก่ไปออสเตรเลียได้
เป็นที่ทราบกันดีว่า กุ้งที่ไทยผลิต เป็นกุ้งคุณภาพสูง ที่ได้จากระบบการจัดการการเลี้ยงในแนวทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพสูงที่สุดของโลก มาตรการ IRA ที่ออสเตรเลียกำลังจะประกาศใช้ ไม่สมควรใช้กับสินค้ากุ้งจากประเทศไทย นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวทิ้งท้าย
ท.พ. สุรพล ประเทืองธรรม - นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย (086-6865776)
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ตบเท้ายื่น จดหมายเปิดผนึกนายกตู่ ขอบคุณช่วยแก้ วิกฤติโควิด 19 ขอให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง-ตรวจเข้มสินค้าสัตว์น้ำ อาหารทะเล อาหารต่างๆ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ฯ มอบรางวัลเกียรติคุณ “กุ้งทอง” แก่ซีพีเอฟ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ นายก ส.กุ้งไทย ชี้อุตฯกุ้งไทย ปี 60 สามารถแก้ปัญหาโรคได้ ด้วยแนวทางการจัดการการเลี้ยงที่ได้ผล การเลี้ยงโดยรวมประสบความสำเร็จ