กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สสวท.
การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-31 กรกฎาคม 2550 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ผู้แทนประเทศไทยที่เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 6 คน ได้แก่ นายพชรพล สุเทพารักษ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เด็กชายพศิน มนูรังษี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นายภานุพงศ์ ภาสุภัทร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายวรัตถ์ สุขสมปอง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนายสุธี เรืองวิเศษ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม)
ประเทศไทยได้เริ่มส่งตัวแทนเพื่อไปสังเกตการณ์แข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ครั้งที่ 29 ณ ประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2531 เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร และวิธีการแข่งขันเพื่อเป็นแนวทางในการจัดส่งเยาวชนไทยไปร่วมการแข่งขันและจากการส่งผู้แทนไปเข้าร่วมสังเกตการณ์นี้ในปีต่อมาคือ
ในปี พ.ศ. 2532 ประเทศไทยจึงได้รับเชิญให้ส่งเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ครั้งที่ 30 ณ ประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก) เป็นครั้งแรก และส่งผู้แทนเข้าร่วมการแข่งขันต่อเนื่องเรื่อยมาโดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้ดำเนินการ
ผศ. ดร. วิชาญ ลิ่วกีรติยุตกุล ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์หัวหน้าทีมในครั้งนี้ ได้กล่าวถึงการจัดอบรมผู้แทนประเทศไทยก่อนที่จะเดินทางไปแข่งขันว่า
การอบรมเน้นให้นักเรียนหัดคิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเองมากที่สุด โดยมีคณะอาจารย์ที่มีประสบการณ์เป็น ผู้ชี้แนะแนวทางให้ นักเรียนจะต้องเข้าใจและสามารถให้เหตุผลอย่างถูกหลักตรรกศาสตร์ มีการฝึกฝนโจทย์ใหม่ ๆ ที่ท้าทายตลอดเวลา ซึ่งแตกต่างจากการกวดวิชาทั่วไปที่เน้นการแก้ปัญหาโจทย์ที่มีรูปแบบแน่นอน ในปีนี้ได้มีการซ้อมทดสอบให้ใกล้เคียงกับการแข่งขันจริงมากที่สุด เพื่อฝึกให้นักเรียนเคยชินกับสภาพกดดันในการสอบจริง
“งานนี้ทางทีมวิทยากรที่อบรมได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์จากการพานักเรียนไปแข่งขันในปีก่อนๆ เช่น จะเน้นว่าเมื่อคิดได้แล้วจะนำเสนออย่างไรในกระดาษคำตอบเพื่อให้ได้คะแนนเต็ม ไม่ให้มีช่องโหว่ให้ถูกหักคะแนนได้ รวมทั้งการเตรียมสภาพจิตใจให้พร้อมก่อนแข่งขัน นอกเหนือไปจากความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียว”
นายพชรพล สุเทพารักษ์ (หนึ่ง) วัย 15 ปี กล่าวว่า ชอบเรียนคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะเรขาคณิต เพราะเป็นวิชาที่ว่าด้วยเหตุและผล ไม่ต้องท่องจำมาก อาศัยเพียงการวิเคราะห์โจทย์เท่านั้น ครอบครัวผม มีส่วนอย่างมากครับ คุณพ่อคุณแม่ของผมมีส่วนในการส่งเสริมอย่างเต็มที่ เมื่อรู้ว่าชอบและมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ก็จะหาหนังสือหรือโจทย์มาให้ หรือแม้กระทั่งหาสนามสอบให้ผมลงทดสอบฝีมืออยู่เสมอ
เวลาเรียนนั้นพชรพลจะพยายามตั้งใจเรียนในห้องให้มาก พยายามเข้าใจเนื้อหาให้ได้ในห้องเลย เพื่อที่ว่าเมื่อเลิกเรียนจะได้มีเวลาว่างเป็นส่วนตัว แต่ถ้าอยากให้เก่งเพิ่มขึ้น ก็อาจจะขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเองอีกส่วนหนึ่ง
“ดีใจมากครับที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทย ก็ยอมรับครับว่าตอนนี้กดดันพอสมควร และถ้ายิ่งเป็นตอนแข่งผมคิดว่าจะยิ่งกดดันเข้าไปอีก แต่ผมก็จะพยายามไม่ทำให้ตัวเองเครียดเกินไปครับ การเตรียมตัวก่อนไปคือพยายามฝึกทำโจทย์ให้มาก และฝึกใจ ฝึกสมาธิ”
เด็กชายพศิน มนูรังษี (กันต์) วัย 13 ปี ซึ่งชอบและถนัดวิชาอสมการ (Inequalities) มากที่สุด เนื่องจากเป็นวิชาที่ไม่ได้ใช้ความรู้หรือทฤษฎีบทมากมาย แต่มีโจทย์ที่พิสูจน์ได้อย่างสวยงาม วิธีเรียนของพศินคือเรียนด้วยใจรัก เมื่อรู้สึกเบื่อหรือท้อก็ต้องหากิจกรรมอื่นมาทดแทน อย่าเรียนด้วยความกดดัน ซึ่งหนุ่มน้อยคนนี้ใช้วิธีคลายเครียดด้วยการอ่านหนังสือการ์ตูนทั้งแนวสืบสวนสอบสวน และเวทมนตร์
“ผมมีความมั่นใจอย่างเต็มที่ในการแข่งขัน และผมจะทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะได้รางวัลอะไรกลับมา ผมก็จะภาคภูมิใจกับมัน”ทั้งนี้สิ่งที่พศินอยากฝากไปถึงเยาวชนไทยทุกคนก็คือทุกคนมีโอกาสที่จะเรียนรู้ ขอให้พยายาม ตั้งใจจนสุดความสามารถ ดีกว่าที่จะพลาดโอกาสเพราะเราไม่มีความพยายามพอ และผมขอขอบคุณประชาชนที่ติดตามข่าวโอลิมปิกวิชาการและให้กำลังใจพวกเราตลอดมา
นายภานุพงศ์ ภาสุภัทร (ไอซ์) วัย 16 ปี เล่าว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้เราคิด วิเคราะห์ และใช้เหตุผล เป็นวิชาที่ท้าทายให้เข้าไปพิสูจน์ความจริงที่โจทย์ต้องการ วิชาที่ชอบที่สุดคือเรขาคณิต ครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่คอยผลักดันส่งเสริมให้เรียนวิชาที่ชอบ คอยช่วยเหลือเวลาที่มีปัญหา และยังเป็นกำลังใจให้เสมอ วิธีเรียนของภานุพงศ์ คือ ฟังที่อาจารย์สอน แล้วทบทวนสิ่งที่เรียนไปแล้ว แบ่งเวลาเรียนและเวลาพักให้เหมาะสม สำหรับคณิตศาสตร์ ต้องฝึกโจทย์มาก ๆ เพราะหนึ่งโจทย์คือหนึ่งเทคนิคใหม่ ปรึกษาผู้รู้ถ้าไม่เข้าใจหรือทำไม่ได้
“ความรู้สึกที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทย ไม่กดดันแล้วครับ เพราะว่าผ่านประสบการณ์มา 2 ปีแล้ว และพบว่าถ้ากดดันจะทำให้ทำโจทย์ไม่ได้เลยครับ การแข่งขันครั้งนี้ผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ครับ ขอให้ทำดีที่สุดก็พอใจแล้ว ความมั่นใจตอนนี้ก็ 90% ผลที่ได้ไม่ได้ชี้ชะตาชีวิต แต่เป็นรางวัลของความตั้งใจของเรา จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรู้ ความมุ่งมั่นและโชคชะตา”
ท้ายสุดภานุพงศ์กล่าวว่า ผมอยากให้ความพยายามของพวกผม เป็นกำลังใจให้เยาวชนไทยที่คิดจะสร้างชื่อเสียงในเวทีโลก เป็นพลังให้พวกเขาเหล่านั้นทะยานขึ้นไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ และอยากให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ควบคู่ไปกับคุณธรรม และหมั่นศึกษาเล่าเรียนเพื่อเป็นอนาคตประเทศชาติ
นายวรัตถ์ สุขสมปอง (จุ่ง) วัย 16 ปี กล่าวว่า ที่เข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่จะส่งเสริมความสามารถในด้านที่สนใจ และทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกจากนี้ การเข้าโครงการโอลิมปิกยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ในการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการทำให้ได้พบกับโจทย์ในระดับยาก ที่ต้องใช้ความคิดอย่างมาก และใช้เวลานานในการทำ ทำให้ผมมีความอดทน ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ และมีความเชื่อมั่นในตนเอง นอกจากนี้ยังได้พบกับเพื่อนที่สนใจด้านเดียวกัน
วรัตถ์ชอบเนื้อหาด้านทฤษฎีจำนวนมากที่สุด เนื่องจากการทำโจทย์จะต้องอาศัยทั้งแนวคิดใหม่และประสบการณ์ในการทำโจทย์ เวลาว่างชอบเล่นเปียโนและอ่านหนังสือหลายประเภท
“ผมรู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทย เตรียมความพร้อมโดยทำโจทย์ที่อาจารย์แจกให้ในค่าย ส่วนเรื่องสภาพจิตใจ ผมพยายามฝึกตัวเองไม่ให้ตื่นเต้นเวลาทำข้อสอบ ฝึกให้มีสติอยู่เสมอ ในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกนั้นโจทย์จะมีแนวที่หลากหลาย จึงเป็นการยากที่จะทำตัวเองให้พร้อมที่สุด แต่ก็จะพยายามเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดครับ”
นายสุธี เรืองวิเศษ(ทีม) วัย 15 ปี บอกว่าชอบคณิตศาสตร์ด้านคอมบินาทอริกมากที่สุด เนื่องจากเป็นสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดเรียงและสร้างรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงเรื่องที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นด้านที่สนุกและต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา และไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านทฤษฎี สูง ๆ ในบางครั้งใช้เพียงการนับพื้นฐานก็แก้ปัญหาได้ เวลาว่างสุธีทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ ส่วนกีฬาก์เล่นบ้าง เช่นปิงปอง ฟุตบอล โดยอ่านหนังสือได้ทุกแนว แต่ที่อ่านบ่อย ๆ ก็เป็นหนังสือคณิตศาสตร์กับการ์ตูน แล้วก็หนังสือประเภทเกมปริศนาต่าง ๆ
“เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกของผม ถ้าได้เหรียญมาก็ถือว่ากำไรแล้ว จะพยายามเต็มที่เพื่อทำให้ดีที่สุด สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวโอลิมปิกวิชาการ ก็อยากให้ช่วยเป็นกำลังใจให้กับผู้แทนฯทุกคนด้วย สำหรับเยาวชนไทยที่อยากประสบความสำเร็จ ก็ขอให้ค้นหาด้านที่ตัวเองสนใจ แล้วมุ่งมั่นไปในด้านนั้นอย่างเต็มที่ ประกอบกับความพยายาม ก็จะประสบความสำเร็จได้”