กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--นิวส์ เพอร์เฟค คอมมิวนิเคชั่น
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ นำผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ระดับเอสเอ็มอี จำนวน 10 ราย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเครื่องจักรกลโลหะการ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ( MTA VIETNAM 2007 ) เพื่อเสริมวิสัยทัศน์ และสนับสนุนผู้ประกอบการไทย สู่เวทีโลก
รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน ในฐานะผู้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ( Cluster ) ให้เกิดเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการแม่พิมพ์ที่เข้มแข็ง ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญก็คือการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความน่าเชื่อถือให้กับผู้ประกอบการแม่พิมพ์ โดยในแต่ละปีโครงการฯ จะนำผู้ประกอบการแม่พิมพ์ไทยเข้าร่วมแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มผู้ประกอบการแม่พิมพ์ไทย
โดยล่าสุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ได้นำผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ระดับ เอสเอ็มอี ในประเทศ จำนวน 10 ราย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเครื่องจักรกลโลหะการ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ( MTA VIETNAM 2007 ) ที่เมือง โฮจิมินห์ ประเทศเวียตนาม ระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมระดับนานาชาติที่มีผู้ประกอบการจากประเทศต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมมากมาย อาทิ ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียตนาม ไทย เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากเป็นการขยายโอกาสทางการตลาดระดับนานาชาติและศึกษาถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านแม่พิมพ์แล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมจากประเทศต่างๆ ได้รับรู้เทคโนโลยีและศักยภาพของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยอีกด้วย
“ การเข้าร่วมงานที่ประเทศเวียตนามในครั้งนี้ ได้ผลลัพธ์กลับมาในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก กล่าวคือนอกจากจะได้ชมงานตรงตามวัตถุประสงค์หลักแล้ว ผู้ประกอบการแม่พิมพ์ของไทยที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ยังได้รับคำสั่งซื้อสินค้ากลับมาอีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการในการทำตลาดระดับโลกมากยิ่งขึ้น ทางโครงการฯเองก็จะไมได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ จะพยายามมองหาโอกาส และนำผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ไปร่วมงานในลักษณะเช่นนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป ” รศ.ณรงค์ กล่าว
อนึ่ง 4 ยุทธศาสตร์สำคัญในโครงการพัฒนาอุตสาหรรมแม่พิมพ์ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรและสถานศึกษา 2. ยุทธศาสต์การพัฒนาเทคโนโลยี 3. ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอุตสาหกรรม และ 4. ยุทธศาสตร์การสร้างสารสนเทศ สำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมที่ คุณยิ่งยศ ฐาปนกุลศักดิ์
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ สถาบันไทย-เยอรมัน
โทรศัพท์ 081 645 4676 E-mail : [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net