กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชุมป้องกันภัยแล้ง พร้อมสั่งการให้ทุกจังหวัด ยกเว้นภาคใต้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2550 เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาภัยแล้ง รองรับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดภาวะขาดแคลน พร้อมวางแนวทางและกำหนดมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยแล้ง
นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2550 กล่าวว่า พื้นที่ตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ประกอบกับมีฝนตกน้อย ทำให้หลายพื้นที่ประสบความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร คาดว่าสถานการณ์ในปีนี้จะรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งรวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย ลำปาง ขอนแก่น และหนองคาย ในพื้นที่ 50 อำเภอ 11 กิ่งอำเภอ 378 ตำบล 3,518 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 1,362,079 คน 286,190 ครัวเรือน ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันฯ ในฐานะกองอำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งราชอาณาจักร จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัด ยกเว้นภาคใต้ จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” ระดับจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จัดทำแผนแจกจ่ายน้ำและกำหนดจุดจ่ายน้ำให้แก่ราษฎร เตรียมกำลังคนสำรวจวัสดุอุปกรณ์ รถยนต์บรรทุกน้ำ และเครื่องสูบน้ำ ขุดลอกคูคลอง ให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหมู่บ้านได้มากขึ้น และรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดหาภาชนะเก็บกักน้ำและใช้อย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรให้ประสานจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ที่สภาวะอากาศเอื้ออำนวย ในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งจังหวัดสามารถใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินได้ในวงเงิน 50 ล้านบาท โดยแบ่งมาตรการที่จะต้องเร่งดำเนินการด่วน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค ได้แก่ จัดตั้งศูนย์แจกจ่ายน้ำประจำหมู่บ้าน หาแหล่งน้ำเพิ่มเติมและซ่อมแซมเป่าล้างระบบประปาหมู่บ้าน พร้อมมีการบริหารจัดการน้ำประปาในชุมชนให้เพียงพอ ด้านการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่ จัดสรรน้ำให้มีความทั่วถึงทุกพื้นที่ และจัดหาพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกตลอดช่วงฤดูแล้ง พร้อมประสานทำฝนหลวงทันทีที่อากาศอำนวย ด้านการส่งเสริมอาชีพระยะสั้นและการสร้างรายได้ จัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น โดยมีหน่วยงานของรัฐและ อปท.ร่วมกับผู้รับเหมาให้มีการจ้างแรงงานประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ด้านการดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย ให้มีการแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและป้องกันโรคที่เกิดในช่วงฤดูแล้ง พร้อมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกด้วย และด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กำหนดแผนงานและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามโจรที่ลักลอบขโมยอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ เพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนซ้ำเติมอีก ทั้งนี้รัฐบาลถือว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกจังหวัดต้องเร่งดำเนินการแก้ไข และระดมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วย เพื่อให้การบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยแล้งเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โทร./โทรสาร.0-2243-0674 e-mail : public@ disaster.go.th