กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--ศปถ.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงยอดผู้เสียชีวิตหกวันระวังอันตราย สั่งคุมเข้มทุกสถานีขนส่ง ตรวจสภาพร่างกายพนักงานขับรถและสภาพรถโดยสารสาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชน พร้อมสั่งการด่านตรวจคุ้มเข้มวัดระดับแอลกอฮอล์ สภาพร่างกาย หวั่นเมา-ขับ หลับใน ทำยอดอุบัติเหตุพุ่ง เตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายในการเดินทางกลับ
นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน แถลงข่าวสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2550 ของวันที่ 16 เมษายน 2550 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 417 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 45 คน บาดเจ็บ 461 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดจากการเมาสุรา ร้อยละ 36.21 รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 18.23 และ ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 10.55 ตามลำดับ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.08 รองลงมา รถปิคอัพ ร้อยละ 6.84 และ รถนั่งส่วนบุคคล ร้อยละ 2.83 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในช่วงทางตรง ของถนนนอกเขตทางหลวงแผ่นดิน และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ช่วงเย็นถึงค่ำเวลา 16.01 - 20.00 น. จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ลำปาง สิงห์บุรี สระแก้ว และกรุงเทพมหานคร ( จังหวัดละ 3 คน) รองลงมา ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี สุรินทร์ ตรัง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพระนครศรีอยุธยา (จังหวัดละ 2 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตของวันที่ 16 เม.ย. 50 มีจำนวน 48 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ( 19 คน) รองลงมา ได้แก่ อุดรธานี (17 คน) กาญจนบุรีและศรีสะเกษ (14 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บของวันที่ 16 เม.ย. 50 ได้แก่ ภูเก็ตและยโสธร จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (19 ครั้ง) รองลงมาได้แก่ อุดรธานี (15 ครั้ง) สุพรรณบุรี (14 ครั้ง) ตามลำดับ
จำนวนอุบัติเหตุสะสม 6 วัน (11-16 เมษายน 2550) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม 3,823 ครั้ง มากกว่าปี 2549 จำนวน 40 ครั้ง (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.06) ผู้เสียชีวิตรวม 318 คน น้อยกว่าปี 2549 จำนวน 29 คน (ลดลงร้อยละ 8.36 ) ผู้บาดเจ็บ รวม 4,293 คน มากกว่าปี 2549 จำนวน 57 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35) ในการเรียกตรวจตามมาตรการ 3ม 2ข 1ร มีการเรียกตรวจ 2,427,089 คัน พบการกระทำผิดและดำเนินคดี จำนวน 41,696 ราย เนื่องจาก ไม่พกพาใบขับขี่ สูงที่สุด ร้อยละ 33.68 รองลงมา ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 32.29 และ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 14.94 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นกำลังหลักประจำจุดตรวจร่วม รองลงมา ได้แก่ สมาชิก อปพร. กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตามลำดับ โดยในวันที่หกของช่วง 7 วัน ระวังอันตราย มีการตั้งด่านตรวจ จำนวน 3,368 จุด เฉลี่ย 3.63 จุดตรวจ/อำเภอ มีเจ้าหน้าที่ประจำเฉลี่ยจุดตรวจละ 28 คน มีเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมดทั่วประเทศ 95,566 คน ด้านการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นชุมชนหมู่บ้าน มีการตั้งจุดตรวจร่วม บนถนนสายรอง 11,115 จุด หน่วยบริการ แยกเป็น จุดบริการประชาชน 826 จุด จุดพักรถ 1,755 จุด และอาสาสมัครเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยร่วมปฏิบัติหน้าที่ 75,957 คน
นายอารีย์ กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้เป็นวันหยุดสุดท้าย คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ศปถ. จึงได้ประสานกระทรวงคมนาคมในการจัดระบบรถขนส่งสาธารณะเพิ่มเติมทั้งระบบรถไฟ รถยนต์โดยสารและเครื่องบิน เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งได้ประสานทุกสถานีขนส่งให้เน้นการตรวจสภาพรถที่อาจไม่ปลอดภัยและสภาพร่างกายของพนักงานขับรถ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ตลอดจนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ให้เข้มงวดกวดขันการตรวจจับผู้ขับขี่รถที่มีพฤติกรรมเสี่ยงตามมาตรการ 3 ม 2ข 1ร และการตรวจวัดแอลกอฮอล์ เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ให้ตรวจตราการลักลอบจำหน่ายสุราในสถานที่และช่วงเวลาที่ไม่อนุญาตให้จำหน่ายรวมถึงการลักลอบนำใส่ภาชนะอื่น เพื่อแอบขาย ทั้งนี้ขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนที่เดินทางโดยรถสาธารณะทุกประเภท ให้ระมัดระวังอันตรายจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมา เช่น การเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรถบริการสาธารณะ การล้วงกระเป๋า เป็นต้น และไม่รับฝากของจากคนแปลกหน้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจจะเป็นสิ่งเสพติดหรือวัตถุอันตราย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะถูกดำเนินคดีได้ และจากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า จะมีฝนตกกระจายในทั่วทุกภาค ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ยานพาหนะ จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนควรเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะการขับขี่บริเวณทางโค้ง ทางลาดชัน เนื่องจากสภาพถนนที่เปียกลื่น และทัศนวิสัยไม่ดี ตรวจสอบสภาพรถ ศึกษาสภาพเส้นทางก่อนออก ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง หากรู้สึกอ่อนเพลียหรือง่วง ขอให้จอดรถแวะพักผ่อนตามจุดพักรถที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ตลอดเส้นทาง เพื่อป้องกันการหลับในเนื่องจากความเหนื่อยล้าจากการเดินทางในช่วงที่มีปริมาณการจราจรคับคั่งและการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาล อย่างไรก็ดีประชาชนสามารถสอบถามข้อมูล ร้องเรียน เกี่ยวกับการเดินทาง หรือแจ้งอุบัติเหตุ ได้ที่สายด่วนสาธารณภัย 1784 ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม1356 ศูนย์บริการของ บขส. 1584 และ กระทรวงสาธารณสุข 1669 เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
“ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท ดื่มไม่ขับ ขับไม่ซิ่ง ง่วงไม่ขับ”