กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--สปรส.
ในการพิจารณา พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายนิรุจน์ อุทธา , นายณรงค์ ตั้งศิริชัย ,นายวิเชียร จิตพิศาล , นายสมชาย เพชรจินดา และนายสุรศักดิ์ บุญเทียน กรรมการสมาคมหมออนามัยแถลงว่าหมออนามัยจากทั่วประเทศ 99 คน จะบวชให้กับทุกคนที่ร่วมกันสนับสนุน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาโดยตลอด ทั้งภาคีสุขภาพกว่า 3,000 เครือข่าย ผู้คนที่เข้าร่วมกระบวนการยกร่างกฎหมายฉบับนี้กว่า 300,000 คน คนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ในกิจกรรมรณรงค์รวมพลังสร้างสุขภาพตามรอยพระยุคลบาท 4.7 ล้านคน ประชาชนที่ลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายนี้โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2540 กว่า 150,000 คน รวมไปถึงนักวิชาการ นักวิชาชีพ และฝ่ายการเมืองทุกคนที่ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันให้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติผ่านออกมาเป็นกฎหมายให้สำเร็จ โดยจะบวชทันทีหลังจากที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติประกาศใช้แล้ว ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์
“พวกเราทุกคนที่เคยร่วมกระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตั้งแต่เริ่มแรกได้ทราบข่าวว่ารัฐบาลชุดนี้หยิบ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ และเสนอให้ สนช.พิจารณา จนเข้าวาระ 2 และ 3 แล้วในวันนี้ พวกเรารู้สึกยินดีมาก ที่ผ่านมาความหวังที่กฎหมายนี้จะประกาศใช้ดูริบหรี่มาก แม้จะพยายามผลักดันทุกวิถีทางแล้วก็ตาม แต่วันนี้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติได้ผ่านการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วถือเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ ที่เราจะได้กฎหมายสุขภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะของสังคม สร้างสันติสุขและความสามัคคีของคนในชาติให้เกิดขึ้นได้ หมออนามัยจึงชักชวนกัน 99 คนจากทั่วประเทศทำความดีด้วยการบวชให้กับทุกคนที่ช่วยกันผลักดันพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติจนเป็นกฎหมายออกมาสำเร็จได้ในวันนี้” นายนิรุจน์กล่าว
ด้านนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าวันนี้มีความสุขและปลาบปลี้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ สนช. มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ออกมาใช้เป็นกฎหมายแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยตรง ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นเครื่องมือบริหารประเทศของรัฐบาลเหมือนกฎหมายทั่วไป ไม่ใช่กฎหมายที่ยกร่างโดยข้าราชการประจำ ไม่ใช่กฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น แต่เป็นกฎหมายของประชาชนคนไทยทุกคนที่ร่วมกันยกร่างขึ้นมา เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของพวกเราทุกคน การที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติประกาศใช้ออกมาเป็นกฎหมายนั้นประโยชน์จะไม่เห็นในทันทีทันใด แต่จะส่งต่อระบบสุขภาพของไทยที่มุ่งสู่การสร้างสุขภาพอย่างชัดเจน เปิดโอกาสให้คนไทยทุกระดับสามารถนำกฎหมายนี้ไปเป็นเครื่องมือทำงานเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างกว้างขวาง ไม่ต้องคอยแต่รอรับบริการจากภาครัฐเท่านั้น นอกจากนี้กฎหมายนี้ยังให้สิทธิและหน้าที่กับประชาชนให้สามารถทำงานร่วมกับรัฐในการสร้างและปกป้องคุ้มครองสุขภาพด้วย ทั้งหมดนี้ระบบสุขภาพของคนไทยจะดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความยั่งยืน
นางรัตนา สมบูรณ์วิทย์ โฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมกระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาตินับแต่ปี 2543 กล่าวว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติเป็นกฎหมายที่มีเพื่อนคนไทยจำนวนมากได้ริเริ่ม จัดทำ สนับสนุน และผลักดัน มานานกว่าครึ่งทศวรรษ ช่วงก่อนหน้านี้พวกเราเหนื่อยกันมาก เพราะทำอย่างไรกฎหมายนี้ไม่ขยับเขยื้อน แต่พอมาถึงรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญ และคงเห็นกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ตามนโยบายของรัฐบาล จึงเสนอเรื่องและผ่านออกมาอย่างรวดเร็ว เมื่อ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติออกมาแล้วภารกิจของเราไม่จบสิ้นแต่เพียงเท่านี้ เพราะเรามีหน้าที่ต้องทำให้กฎหมายนี้ใช้ได้จริง ไม่ใช่ผลักดันมาแล้วขึ้นหิ้ง แต่เราในฐานะประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพร่วมกับภาครัฐ และนักวิชาการ วิชาชีพ ในกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” ที่กฎหมายนี้บัญญัติไว้แล้ว เราได้ทดลองใช้กระบวนการนี้แล้วในจังหวัดต่างๆ เรายืนยันว่าเป็นกระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
“ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลและ สนช. ชุดนี้ ที่ร่วมกันผลักดัน ให้กฎหมายนี้ออกมา โดยพิจารณากันอย่างละเอียด รอบคอบ โดยเฉพาะ สนช.ทุกท่านได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ช่วยกันขัดเกลาจนเป็นกฎหมายที่ดีอีกฉบับหนึ่งของไทย” นางรัตนากล่าว
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ผลกระทบด้านสุขภาพ
- ๒๓ พ.ย. อพท. จับมือภาคีระดับนานาชาติเผยแพร่ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวยั่งยืนของไทย ในงาน PATA Destination Marketing Forum 2024
- ๒๓ พ.ย. WICE ร่วมงาน "Opp day" ย้ำปี 67 เป็นไปตามเป้า จากการขยายเครือข่ายต่อเนื่อง
- ๒๓ พ.ย. ซิสโก้เปิดตัว Wi-Fi 7 อัจฉริยะ ปลอดภัย และเชื่อถือได้ เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้าและพนักงานองค์กร