กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--นิวส์ เพอร์เฟค
สถาบันไทย-เยอรมัน เผยผลงาน 10 ปี ในฐานะผู้นำเครือข่ายความร่วมมือด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศ จากระดับฐานรากสู่การขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับนโยบายหลักด้านการพัฒนาประเทศ พร้อมเตรียมจัดงานยิ่งใหญ่ ฉลองครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งสถาบันฯ
รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน ( TGI ) เปิดเผยว่า 10 ปีของการก่อตั้งสถาบันไทย-เยอรมัน ได้มีส่วนผลักดันให้เกิดการพลิกโฉมบุคลากรด้านเทคนิค และการพัฒนาช่างฝีมือแรงงานภายในประเทศ ให้มีศักยภาพตรงตามความต้องการของตลาด มีการลงทุนในด้านอุปกรณ์ เครื่องจักรต่างๆ สำหรับการฝึกอบรม สัมมนา และให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการต่างๆ ไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การดำเนินงานพัฒนาของสถาบันฯ นอกจากจะมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถทางการผลิตให้กับอุตสาหกรรมไทยแล้ว ยังได้มีส่วนร่วมดำเนินงานและเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และสร้างมาตรฐานให้กับบุคลากรด้านเทคนิค ให้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
“ผลงานรูปธรรมที่สถาบันไทย — เยอรมัน พัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ กับเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ การสร้างเครื่องย่อยทำลายธนบัตรให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย การพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยในการออกแบบให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง การพัฒนาช่างแม่พิมพ์และช่างเทคนิคให้กับบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาตนเอง โดยวางแผนการดำเนินงานในภาพรวมที่นำไปสู่ความเป็นมืออาชีพระดับสากลโดยร่วมมือกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สถาบันฯไปถึงจุดที่เรียกได้ว่าเป็น Hi-Tech Institute ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดโลกได้”
ผลงานของสถาบันไทย-เยอรมัน ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ อาทิ การสานงานของภาครัฐในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละช่วง โครงการเพิ่มทักษะเสริมศักยภาพครูฝึก และร่วมร่างมาตรฐานของฝีมือแรงงาน การบูรณาการพันธกิจและทรัพยากรเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงการชุบชีวิตธุรกิจไทยด้วยการพัฒนาช่างเทคนิค โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ทั้งระบบ และงานสร้างเครื่องจักรกล เป็นต้น
สถาบันไทย-เยอรมัน ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2538 โดยเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2541 จากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย กับประเทศเยอรมัน โดยมีเป้าหมายหลักๆ 3 อย่างด้วยกันคือ 1. การพัฒนาช่างเทคนิค ช่างฝีมือแรงงาน ให้มีระดับความสามารถที่สูงขึ้น 2. การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทดแทนการนำเข้าเพียงอย่างเดียว และ 3. การทำหน้าที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ เข้าด้วยกัน เพื่อให้มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในระดับโลกได้ และตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินงาน สถาบันไทย-เยอรมัน ได้มีส่วนอย่างมากในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการเจริญ เติบโตของอุตสาหกรรมไทยในภาพรวม ไปสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับแผนงานพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 4-5 เมษายนนี้ สถาบันไทย-เยอรมัน จะจัดงานฉลองเนื่องในโอกาสการดำเนินงานของสถาบันฯ มาได้ครบ 10 ปี ในชื่องาน “ 1 ทศวรรษ TGI ” ภายใต้แนวคิด “ นวัตกรรม : เครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และผลิตภาพ ” โดยจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับการก่อตั้งสถาบันไทย-เยอรมัน ตั้งแต่เริ่มแรกมาจนถึงปัจจุบัน งานสัมมนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงด้านงานแม่พิมพ์ โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ การประชุมเสวนาในหัวข้อต่างๆ งานแสดง และสัมมนาสุดยอด CAD/CAM/CAE การแข่งขันฝีมือช่างในด้านต่างๆ และการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ นวัตกรรม และการเพิ่มผลิตภาพ ทางรอดอุตสาหกรรมไทย ” โดย ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ เป็นต้น
เกี่ยวกับสถาบันไทย-เยอรมัน : ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2538 มีบทบาทในการช่วยเหลือ ฝึกอบรมและให้คำปรึกษา ในการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการผลิต มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านแม่พิมพ์ เทคโนโลยีการพัฒนา และการผลิต ระบบอัตโนมัติ ต่างๆ กว่า 100 คน เป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังกำไร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณยอดยิ่ง แสนยากุล
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์
สถาบันไทย-เยอรมัน
โทรศัพท์ 081 376 3690
E-mail : [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net