กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือเทศบาลนครภูเก็ต เนรมิตค่ายวิศวกรรมศาสตร์ “การออกแบบและสร้างกล้องดูดาว” พร้อมดึงมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเสริมทัพเน้นการเรียนการสอนแบบครบวงจรครั้งแรกในประเทศไทย หวังกระตุ้นเยาวชนเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น
ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สายงานสร้างความตระหนัก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงโครงการฯ นี้ว่า เป็นความร่วมมือระหว่าง TMCเทศบาลนครภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความตื่นตัวด้านทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงวิศวกรรมศาสตร์แก่เยาวชนในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง โดยนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ พร้อมสร้างกล้องดูดาวที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 350 คน
“ค่ายฯ ดังกล่าวเยาวชนจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีในการออกแบบกล้องดูดาว เช่น ทฤษฎีของแสง การประกอบเลนส์ และการประกอบลำกล้อง เป็นต้น จากนั้นเยาวชนก็จะนำความรู้ที่ได้ไปสู่ภาคปฏิบัติในการสร้างกล้องดูดาว ซึ่งสามารถส่องดูวงแหวนดาวเสาร์ กาแลกซี ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ได้ โดยนับเป็นการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์แบบครบวงจรครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจและให้ความสนใจวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น จนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ และเป็นผลงานเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต”
ด้านนายสุนันท์ หลิมจานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ผู้ริเริ่มและสนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า “สำหรับเทศบาลนครภูเก็ต เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสาขาวิชาชีพอื่นๆ ได้ จึงต้องการสนับสนุนให้เยาวชนภายในพื้นที่จ.ภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ที่สนับสนุนด้านพื้นที่จัดกิจกรรม วิทยากร และพี่เลี้ยงดูแลนักเรียนทั้งหมด โดยกิจกรรมครั้งนี้เยาวชนได้ใช้เวลาในการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติตลอดระยะเวลา 5 วัน และภายใน 5 วันนี้ เยาวชนจะสามารถสร้างกล้องดูดาวด้วยตนเองได้ จากนั้นจะนำกล้องไปมอบให้โรงเรียนของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การสนับสนุนจากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ทางด้านวิทยากร อุปกรณ์และความรู้ช่วยให้โครงการฯ นี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในอนาคตเราอยากเห็นเยาวชนและบุคลากรของภูเก็ตมีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์วิศวกรรมเพิ่มมากขึ้น”
เกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ สวทช. พันธกิจหลักคือการนำความสำเร็จของผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการให้การสนับสนุนและการให้บริการในรูปแบบต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ของภาคธุรกิจ สังคมและชุมชน อันนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ภารกิจหลักที่สำคัญของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ประกอบด้วย การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ , การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน , การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณชนานันท์ คงธนาฤทธิ์ / คุณวีระวุฒิ ฟุ้งรัตนตรัย
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
โทร 0-2564-7000 ต่อ 1476-1478
คุณชุติมันต์ เหลืองทองคำ /คุณมณีรัตน์ เย็นสุดใจ / คุณเมธาวี เฉลิมธนศักดิ์
บริษัท พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
โทร. 02-971-3711 ต่อ 104, 124 , 118
มือถือ 085-199-0226, 081-234-7665, 081-855-7394
- พ.ย. ๒๕๖๗ ลุยสร้างคนไม่หยุด! "จุรินทร์" บุกภูเก็ต Kick off สร้าง CEO Gen Z ปั้นแม่ทัพการค้ารุ่นใหม่ เป้า 4 ปี ร่วม 46,500 คน ปลื้ม! เด็กวัยรุ่นแห่เซลฟี่สุดคึกคัก
- พ.ย. ๒๕๖๗ มหาวิทยาลัยพะเยา กองอาคารสถานที่ ต้อนรับคณะดูงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: กรมวิทยาศาสตร์บริการ ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ด้วยเทคนิค intensive, hands-on, student-centered learning