ไอบีเอ็มจับมือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เปิดโครงการวิจัยยารักษาไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบ

ศุกร์ ๓๑ สิงหาคม ๒๐๐๗ ๑๐:๑๒
กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มจับมือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เปิดโครงการวิจัยยารักษาไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบ พร้อมเชิญชวนผู้มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโครงการด้วยการบริจาคพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน
นักวิจัยระบุต้องใช้เวลาประมวลผลข้อมูลการค้นคว้าวิจัย 50,000 ปี แต่จะทำเสร็จได้ภายใน 1 ปีเท่านั้น ด้วย World Community Grid
ด้วยความมุ่งหวังที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลุกลามกลายเป็นโรคระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน ไอบีเอ็มจึงได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส และมหาวิทยาลัยชิคาโก ดำเนินโครงการค้นคว้าวิจัยยารักษาโรคที่จะช่วยรักษาหรือบำบัดอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อเวสต์ไนล์ (West Nile) และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไข้เหลือง และตับอักเสบ ซี ไข้เลือดออก ซึ่งพบในทวีปเอเชียและพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตรเป็นหลัก และเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ซึ่งแพร่ระบาดในทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป และเริ่มแพร่เข้าสู่สหรัฐฯ เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษา และมักจะติดต่อสู่ผู้ใหญ่และเด็กโดยอาศัยยุงเป็นพาหะ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวหลายล้านคนและมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน
โครงการความร่วมมือเพื่อคิดค้นยารักษาโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีชื่อว่า “Discovering Dengue Drugs — Together” จะใช้พลังการประมวลผลเพื่อการวิจัยของเครือข่าย World Community Grid ซึ่งมีพลังเทียบเท่ากับหนึ่งในห้าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงที่สุดในโลก โดย World Community Grid ประกอบด้วยเครือข่ายอาสาสมัครจำนวนมากที่ร่วมบริจาคพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ของตนเองในระหว่างที่ไม่ได้ใช้งาน ทั้งนี้เครือข่าย World Community Grid จะทำการคำนวณเพื่อค้นหาส่วนประกอบของโมเลกุลยาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อเวสต์ไนล์ โรคไข้เหลือง และโรคตับอักเสบ ซี โดยหลังจากที่ระบุส่วนประกอบยาที่เหมาะสมได้แล้ว นักวิจัยก็จะเริ่มการทดลองยาดังกล่าวเพื่อค้นหาว่ามีประสิทธิผลในการรักษามากน้อยเพียงใด
“ไข้เลือดออก เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์และเชื้อไวรัสอื่นๆ ในตระกูลนี้ เช่น ตับอักเสบ และไข้สมองอักเสบ ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงของโลก แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการค้นพบยาที่สามารถรักษาโรคดังกล่าวได้” ศุภจี สุธรรมพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัย “Discovering Dengue Drugs — Together” ที่ไอบีเอ็มร่วมกับมหาวิทยาลัยเท็กซัสประกาศครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการวิจัยเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเหล่านี้ได้ดีขึ้น และสามารถพัฒนายารักษาโรคที่จะช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าโรคไข้เลือดออกเริ่มพบประปรายในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 และเกิดการระบาดใหญ่ในเขตกรุงเทพ-ธนบุรีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 ตั้งแต่นั้นมาแนวโน้มของการระบาดมีสูงขึ้นมาโดยตลอด สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 18 สิงหาคม 2550 นี้ พบว่ามีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้นถึง 36,082 ราย
นักวิจัยประเมินว่าโครงการนี้จะต้องใช้เวลาในการประมวลผลข้อมูลราว 50,000 ปี แต่ถ้านำมาทำบนเครือข่าย World Community Grid ก็จะสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งปีเท่านั้น และถ้าหากมีอาสาสมัครที่ร่วมบริจาคพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถดำเนินการวิจัยได้รวดเร็วขึ้นตามไปด้วย
ดร. สแตน วาโทวิช หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า “หากไม่มีโครงการ World Community Grid เราจะต้องกำหนดสมมุติฐานเพิ่มมากขึ้นในการวิจัยและต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น World Community Grid ช่วยให้เราสามารถทำการคำนวณได้แม่นยำขึ้นอย่างมาก ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการค้นพบยาที่จะสามารถหยุดยั้งโรคติดต่อร้ายแรงที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก”
โครงการระยะที่หนึ่งจะมุ่งเน้นการศึกษาโปรตีนที่ทำให้ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวน และจะนำเอารายชื่อโปรตีนดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลโมเลกุลยาหกล้านโมเลกุล ซึ่งอาจมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ส่วนโครงการระยะที่สองซึ่งยากกว่า จะเป็นการวิเคราะห์ว่าโมเลกุลยาตัวใดบ้างที่เกี่ยวพันกับโปรตีนนั้นๆ อย่างใกล้ชิด และมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสอย่างแท้จริง จากนั้นนักวิจัยก็จะได้รับรายการโมเลกุลยาหลายสิบโมเลกุลที่สามารถนำไปทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นขั้นตอนถัดไปของการคิดค้นยาชนิดใหม่
“ใครก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จะสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญอย่างยิ่งนี้ เพียงแค่บริจาคพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน เราทุกคนก็จะสามารถช่วยให้ทีมงานของโครงการนี้คิดค้นยาได้เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น หากอาสาสมัคร 100,000 คนลงทะเบียนภายในช่วงสัปดาห์แรกของโครงการ ก็จะลดระยะเวลาที่ใช้ในการคำนวณให้เสร็จสิ้นได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์” ศุภจีกล่าว
ผู้สนใจที่ต้องการบริจาคช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์ให้แก่โครงการนี้ สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.worldcommunitygrid.org และติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่แจกฟรีลงบนคอมพิวเตอร์ของตนเอง เมื่อคอมพิวเตอร์อยู่ในโหมดว่าง (Idle) เช่น ระหว่างที่ผู้ใช้พักรับประทานอาหารกลางวัน คอมพิวเตอร์ก็จะร้องขอข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ของ World Community Grid จากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะทำการประมวลผลโดยใช้ข้อมูลดังกล่าว แล้วส่งผลลัพธ์กลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ และรับงานชุดใหม่ต่อไป โปรแกรมรักษาหน้าจอ (Screen Saver) จะแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าคอมพิวเตอร์กำลังถูกใช้งาน
World Community Grid เป็นระบบกริดสาธารณะเพื่อมนุษยธรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีสมาชิกมากกว่า 315,000 ราย และครอบคลุมอุปกรณ์มากกว่า 700,000 เครื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีอุปกรณ์ราว 1,000 ล้านเครื่องที่ถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีโครงการที่รันบนเครือข่าย World Community Grid ทั้งสิ้น 7 โครงการ รวมถึง FightAIDS@Home ซึ่งดำเนินงานวิจัย 5 ปีเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้เสร็จสิ้นภายในเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะรองรับโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม โปรดเยี่ยมชมเว็บไซท์ www.ibm.com
แผนกประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ชูจิตต์ วัฒนล้ำเลิศ โทร. 02 2734306 email:[email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version