ICCA มั่นใจการเมือง-ความปลอดภัย เดินหน้าจัดประชุมใหญ่สมาชิกในไทย

ศุกร์ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๗ ๑๑:๔๕
กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ไอเดียลิสท์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ICCA สมาคมยักษ์ใหญ่ด้านการประชุมนานาชาติของโลก เชื่อมั่นความปลอดภัย-การเมืองไทย เดินหน้าจัดประชุมใหญ่สมาชิก “ICCA Congress 2007” ที่ศูนย์ประชุมพีช พัทยา หวังยกมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ เปิดตลาดกลุ่มผู้บริหารระดับสูงและนักธุรกิจรุ่นใหม่ภูมิภาคเอเซีย ระบุธุรกิจการประชุมสัมมนาเติบโตอย่างต่อเนื่องสวนกระแสปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ ด้าน สสปน.คาดมีผู้เข้าประชุม 800 คนจาก80ประเทศทั่วโลก เม็ดเงินสะพัดกว่า 70ล้านบาท ดันไทยสู่ศูนย์กลางไมซ์ในเอเชียปี 2552 ตามเป้า
มร.มาร์ติน ซิร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมการประชุมนานาชาติ (International Congress and Convention Association — ICCA) หรือ “อิกก้า” ซึ่งเป็นสมาคมนานาชาติที่มีภารกิจเกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของโลก เปิดเผยว่า อิกก้ามีความมั่นใจในเสถียรภาพการเมืองและสถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศไทย ดังนั้น อิกก้าจึงยังคงเดินหน้าจัดงานประชุม 46th ICCA Congress 2007” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 -31 ตุลาคม 2550 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าพัทยา (Pattaya Exhibition and Convention Hall — PEACH) ณ โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา
การประชุมดังกล่าว ถือเป็นการจัดงานการประชุมใหญ่ประจำปีและนิทรรศการครั้งที่ 46 ของสมาคมฯ โดยจะมีการจัดการประชุมหมุนเวียนไปทั่วโลก และมีโอกาสในการจัดในภูมิภาคเอเชียเพียง 3 ปี ต่อครั้งเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับมาตรฐานบริการในธุรกิจไมซ์ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิก และส่งเสริมการจัดการประชุมนานาชาติ
“การเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ เพื่อมาดูการทำงานในรายละเอียดต่างๆ เพราะในหลักการใหญ่ๆได้วางไว้หมดแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จัดการประชุมในประเทศไทย ครั้งแรกจัดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราคิดว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถบอกได้ว่าปลอดภัยสมบูรณ์แบบ เพราะมีความรุนแรง ภัยต่างๆ ระเบิด โจรกรรมทุกรูปแบบ โรคภัยไข้เจ็บ แต่ควรมีการรายงานอย่างตรงไปตรงมา “ มร.มาร์ตินกล่าวและว่า
แต่สำหรับประเทศไทย สมาคมฯ มีความเชื่อมั่นในสถานการณ์การเมือง และความปลอดภัย เพราะเห็นได้จากการรายงานของสื่อมวลชนถึงผลบวกของการปฎิวัติครั้งนี้ และไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ รวมถึงไม่มีการยกเลิกการประชุม หรือทัวร์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต่างชาติทั่วโลกเข้าใจในสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทย
“การประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับนานาชาติ และมีการเตรียมงานมานาน เรายืนยันจะไม่มีการเลื่อน และจะเดินหน้าจัดงานต่อไป ขณะที่สมาชิกอิกก้าทุกคนมีความเชื่อมั่นและตระหนักถึงปัญหา จะมาร่วมประชุมกันเหมือนเดิม ไม่หวั่นไหวกับปัจจัยภายนอก เพราะเรามีการสื่อสารที่ชัดเจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น “มร.มาร์ตินกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากการมีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดงานที่โดดเด่น เช่น การที่ไทยเสนอจัดการประชุม Summit ก่อนหน้าการประชุม เพื่อดึงดูดผู้ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกอิกก้าในภูมิภาคนี้ เข้าร่วมในอิกก้า เช่น ลาวเป็นต้น และยังเสนอให้มีการจัดประชุม 2 วัน สำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ ให้มีโอกาสได้รับประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการจัดการประชุมนานาชาติ(MICE) และโอกาสพบปะสังสรรค์เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างกัน
นอกจากนี้ มีประเด็นอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน และการเรียนรู้ในธุรกิจนี้ในขั้นสูงขึ้นไป อีกทั้งเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตในตลาดไมซ์ได้อีกมาก สิ่งสำคัญปีนี้เป็นปีมหามงคลของการเฉลิมฉลองครบรอบพระชนมายุครบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนี่คือเหตุผลที่ทำให้อิกก้าเลือกไทยแทนที่จะไปจัดการประชุมที่สิงคโปร์หรือมาเลเซีย ทั้งที่ทุกประเทศมีความพยายามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีของอิกก้าครั้งนี้
มร.มาร์ติน กล่าวด้วยว่า การจัดประชุมในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ศึกษาและเรียนรู้หลักการบริหารการจัดการ การตลาดยุคใหม่ และนวัตกรรมใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไมซ์ และมุ่งสร้างความได้เปรียบการแข่งขันเชิงธุรกิจให้กับสมาชิกในตลาดการประชุมระดับชาติ และเป็นโอกาสให้สมาชิกใช้เวทีนี้สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนธุรกิจระหว่างกัน
สำหรับการจัดการประชุมครั้งนี้จะเน้นเจาะไปที่สามกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มแรกคือผู้บริหารระดับสูงระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ ผู้อำนวยการ และเจ้าของธุรกิจ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นระดับผู้อำนวยการฝ่ายขายอาวุโส ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดอาวุโส และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และกลุ่มที่สามเป็นระดับผู้จัดการ รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร
“แน่นอนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดครั้งนี้คือประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนต้องใช้จ่ายเงิน คนที่มาประชุมเหมือนเป็นทูตช่วยโปรโมทประเทศไทย เพราะบุคคลเหล่านี้อยู่ในธุรกิจไมซ์โดยตรง สามารถแนะนำและช่วยเปิดตลาดให้ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง และผลในระยะยาว ไทยสามารถสร้างตลาดไมซ์ผ่านผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้”มร.มาร์ตินกล่าว
ภาพรวมของธุรกิจไมซ์ (MiCE : Meeting Incentive Convention and Exhibition) โดยเฉพาะกลุ่มการประชุมสัมมนานานาชาติยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของสภาพทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกระแสการค้าเสรีในปัจจุบันส่งเสริมให้มีการลงทุนและการพัฒนาธุรกิจในทุก ๆ ด้าน
“หากว่าประเทศไทยต้องการเป็นผู้นำในด้านธุรกิจไมซ์จำเป็นต้องพัฒนาในด้านบุคลากรทั้งระบบเพื่อให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาระบบธุรกิจไมซ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบลูกค้าสัมพันธ์ หรือ Customer Relationship Management เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” มร.มาร์ติน กล่าว
ปัจจุบันอิกก้า มีสมาชิกกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก โดยสมาชิก 60% มาจากยุโรป และ40% จากประเทศแถบเอเซีย .ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยองค์กรสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการประชุมนานาชาติ อาทิ บริษัทนำเที่ยว สายการบิน สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและท่องเที่ยวของประเทศ โรงแรม สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ เป็นต้น โดยสมาคมจะมีการประชุมประจำปีระหว่างเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายนของทุกปี และในปีนี้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 46 ที่พัทยา
ด้านร้อยเอกขจิต หัพนานนท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(สสปน.) และประธานคณะกรรมการสมาคมการประชุมนานาชาติประจำประเทศไทย (ICCA Thailand Committee) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 800 คน จากสมาชิก 80 ประเทศทั่วโลก คาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 70 ล้านบาท และมียอดการใช้จ่ายต่อคนประมาณ 22,000 บาท สำหรับผลในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยสามารถสร้างตลาดไมซ์ ผ่านผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกในครั้งนี้ได้เป็นอย่างมาก และจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและการจัดนิทรรศการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2552 ได้ตามเป้าหมาย
และเพื่อให้การประชุม ICCA ครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยและภูมิภาค คณะกรรมการสมาคมการประชุมนานาชาติประจำประเทศไทย (ICCA Thailand Committee) โดยมี สสปน. เป็นแกนนำ ได้ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติระดับภูมิภาคขึ้นอีก 2 งานประกอบด้วย The Asian Meetings Industry Leaders Summit โดยจะเชิญผู้นำในวงการธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติของเอเชียเข้าร่วมประชุม เพื่อหาทางร่วมมือกันในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติในภูมิภาคเอเชีย และงานประชุม The Asian Meetings Industry Young Professional Conference ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ ซึ่งทั้ง 2 งานประชุมจะมีขึ้นที่โรงแรมรอยัลคลิฟ พัทยาในช่วงก่อนและระหว่างงานประชุม 46th ICCA Congress จึงเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสสัมผัสกับนักธุรกิจชั้นนำในวงการธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version