คสม.ขับเคลื่อนแนวทางผลิตแพทย์รุ่นใหม่ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

พุธ ๒๗ มิถุนายน ๒๐๐๗ ๐๘:๐๒
กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--คสม.
เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดเวทีขับเคลื่อนเครือข่ายการพัฒนาสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (คสม.) เรื่อง “Humanized Health Care ใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพ” ขึ้น ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวว่า เครือข่ายการพัฒนาสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (คสม.) ซึ่งประกอบด้วยคณะแพทยศาสตร์หรือโรงเรียนแพทย์ 5 แห่ง คือ ม.จุฬาฯ ม.มหิดล ศิริราชพยาบาล ม.สงขลานครินทร์และ ม.นเรศวร ร่วมด้วย วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยการสาธารณสุข และโรงพยาบาลชุมชนอีก 4 แห่ง คือ รพ.พระนั่งเกล้า รพ.เทพา จ.สงขลา รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งเห็นตรงกันว่าการขับเคลื่อนเรื่อง “แพทย์ไทยหัวใจพระโพธิสัตว์” เป็นประเด็นที่จะสามารถมีผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ได้นั้น ควรเริ่มดำเนินการในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ก่อนเพราะสัมผัสทุกข์ของผู้ป่วยได้ง่ายกว่า และพบว่าในโรงเรียนแพทย์หลาย ๆ แห่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้วในรูปแบบแตกต่างกันไป ดังนั้นการนำประสบการณ์และองค์ความรู้ของแต่ละแห่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจะสามารถพัฒนาแนวทางการผลิตแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์แพร่หลายมากขึ้น เสมือนเป็นการเติมหัวใจให้ระบบสุขภาพ
ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวนำการเสวนา “HHC กับการเรียนรการสอนแพทยศาสตร์ศึกษาว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเห็นด้วยกับการ “ใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพ” โดยใช้หลักสูตรการผลิตแพทย์เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีการเน้นย้ำให้ในแต่ละปีมีลักษณะเป็น Spiral curriculum ทั้งนี้ในปี 2549 ได้ให้นิสิตแพทย์ปี 1 ไปโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน 1 สัปดาห์ เพื่อศึกษาสภาพความเป็นจริงของผู้ป่วยในแง่มุมต่าง ๆ แล้วให้ประเมินตนเองว่าบรรลุเป้าหมายข้อไหนบ้าง สิ่งที่คณะคาดหวังคือ นิสิตแพทย์เหล่านั้น “เข้าใจความเป็นมนุษย์” ซึ่งเป็น 2 ใน 7 ข้อ ของ Outcome-based curricule หรือเป้าหมายการผลิตแพทย์ที่มีคุณสมบัติพึงประสงค์ทั้งความรู้ความเชี่ยวชาญในการรักษาโรค ยังได้เน้นคุณสมบัติที่จะช่วยให้แพทย์ “เข้าใจความเป็นมนุษย์”ของคนไข้ยิ่งขึ้น นั่นคือ แพทย์ต้องสามารถใช้ทักษะเพื่อการสื่อสารอย่างได้ผล มีเจตคติที่ดีและปฏิบัติตนถูกต้องตามหลักเวชจริยศาสตร์และกฎหมาย และสามารถดำรงตนในฐานะแพทย์และสมาชิกในสังคมได้อย่างเหมาะสม
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ก.สาธารณสุข กล่าวถึง แนวคิด HHC ในระบบการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษา ว่า ในอดีตนักศึกษาแพทย์ต้องคร่ำเคร่งกับการท่องตำรา จนอาจหลงลืมไปว่ายังมีมิติทางจิตใจและมิติทางสังคมของตัวผู้ป่วยเองหรือของญาติผู้ป่วย ทำให้การแพทย์เหมือนขาดหัวใจไปส่วนหนึ่งซึ่งสุขภาวะดีหรือสุขภาพดีเป็นศีลธรรมพื้นฐานของทุกคน เมื่อการแพทย์ถูกลดทอนลงไปจนเหลือเฉพาะมิติทางด้านเทคนิคการรักษาโรค เรียนเพื่อจะรักษาโรคเป็น แต่ไม่เคยรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเราเรียนแพทย์ไปทำไม บางคนมอง “แพทย์” เป็นเพียงอาชีพหนึ่ง
ปัจจุบันการแพทย์ทั้งระบบถูกทำให้กลายเป็นความรู้ทางเทคนิคไม่ได้แตกต่างกับการซ่อมเครื่องยนต์ ทั้งที่แต่เดิมการแพทย์คือศาสตร์ในการเยียวยามนุษย์เป็นอุดมการณ์อันหนึ่งเพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีร่วมกันรวมทั้งมีความรู้สึกที่ดี สิ่งเหล่านี้สำคัญมากกว่าการรักษาเยียวยาให้คนหนึ่งคนหลุดพ้นจากความทุกข์ที่ได้รับจากความเจ็บป่วยทางกาย เป็นคำถามในระบบการแพทย์และระบบการศึกษาของแพทย์ว่าทำอย่างไรจะทำให้การแพทย์กลับมาเป็นอุดมการณ์ทางสังคมที่ดีได้ เพราะหากขาดมิติทางอุดมการณ์การแพทย์จะถูกลดทอนคุณค่าเหลือแค่ช่างเทคนิคการเย็บ การผ่าตัด การจ่ายยา เท่านั้น เมื่อแพทย์กลายเป็นเครื่องมือของระบบ การทำงานจึงกลายเป็นความทุกข์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทั้งในจิตใจและสังคม ที่สำคัญคือหมดศรัทธา
นพ.โกมาตร กล่าวว่า การผลักดันศีลธรรมพื้นฐานของการแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ต้องให้พัฒนาควบคู่กันไปทั้งเทคโนโลยีและอุดมการณ์ การทำให้สองสิ่งนี้เท่าเทียมกันอย่างได้ผล นั่นคือ ควรมองความเป็นมนุษย์ในมุมมองที่ว่าถ้าเราปฏิบัติต่อเขาให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และก้าวพ้นไปจากความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง การมีอยู่มีกิน โดยมีชีวิตในทางอุดมคติ มีความใฝ่ฝันมีอุดมการณ์ และอยู่ในความเป็นจริง นั่นคือ 1)ให้ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองอยากทุ่มเทให้ 2) มีโอกาสได้ทำ 3) ทำแล้วประสบความสำเร็จ 4) หากได้รับเงินทองชื่อเสียงตอบแทนด้วยก็เป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา จึงจะถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ทั้งนี้ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การเรียนการสอนที่ “ใส่หัวใจความเป็นมนุษย์” ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้ทำกิจกรรมในการลงไปสัมผัสด้วยการดูแล พูดคุย ซักถาม ความคิด ความรู้สึกของผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทำให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่แพทย์คิดว่าดีแล้วสำหรับอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ การดูแลผู้ป่วยต้องอาศัยทักษะในการพูดคุย ซักถามอย่างห่วงใยและจริงใจ ไม่ใช่การทำเพราะ “หน้าที่” และได้เรียนรู้ว่า อาสาสมัครแบบสมัครใจแตกต่างจากภาคบังคับอย่างไร ได้ตระหนักว่าการจะเป็นแพทย์ที่ดีไม่ใช่เพียงรักษาโรคแต่ต้องคำนึงถึงภาวะจิตใจของผู้ป่วยด้วย ดังนั้น การเรียนการสอนแพทยศาสตร์ที่เน้นการให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้จากผู้ป่วยให้มากและรอบด้านอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางกายและจิตใจ จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อสร้างแพทย์ที่เก่งและดีให้เพิ่มขึ้นในระบบบริการสุขภาพของสังคมไทย
นศพ.อนุวัตร พลาสนธิ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า การได้ร่วมกิจกรรมโครงการเพื่อนวันอาทิตย์ที่คณะฯจัดขึ้นโดยให้นักศึกษาแพทย์ตั้งแต่แรกเข้าศึกษาได้ไปสัมผัสผู้ป่วยด้วยการสร้างสัมพันธภาพที่ดี เช่น การพูดคุย ซักถาม ทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องการ ทำให้เห็นอีกมุมหนึ่งของผู้ป่วยว่านอกเหนือจากความเจ็บป่วยด้านร่างกายแล้ว มีสิ่งใดที่อยู่ภายในจิตใจ ทำให้เข้าใจว่าไม่ควรดูผู้ป่วยแค่เบื้องเท่านั้น แต่ควรมองไปที่เบื้องหลังด้วยว่าผู้ป่วยเป็นอย่างไร มีความลำบากมากแค่ไหน ที่ต้องมารอพบแพทย์ตั้งแต่เช้า เราควรใส่ใจปัญหาอื่นที่นอกเหนือจากความเจ็บป่วยด้วย ตนเองหลังจากเข้าโครงการ ก็ได้พัฒนาปรับตัวในเรื่องการรับฟังคนอื่นมากขึ้น ไม่เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ และพบว่าบางสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่ถูกเสมอไป
นศพ.สิริกุล สุขทะเล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ “อาสาสมัครข้างเตียงผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ว่า ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยชาวสวิตเซอร์แลนด์รายหนึ่ง วันแรกที่ไปเยี่ยมพบว่าผู้ป่วยมีภาวะเครียดมากเนื่องจากสื่อสารกับใครไม่ได้ อีกทั้งยังอยู่ในช่วง 7 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับการผ่าตัด และอีกหลาย ๆ อย่าง ตอนแรกตั้งใจแค่ไปแนะนำตัว สุดท้ายพูดคุยกันประมาณ 3-4 ชั่วโมง วันต่อมาพยาบาลแจ้งให้ทราบว่าวันนั้นหลังจากที่ผู้ป่วยได้พูดคุยกับ นศพ.แล้วดูเขามีความสุขมาก ไม่เครียด ทำให้ตัวเองรู้สึกดีเช่นกัน หลังจากไปเยี่ยมอีกหลายครั้ง พูดคุยกันมากขึ้น ทราบว่าภรรยาผู้ป่วยก็เครียดเช่นกัน จากที่เคยอ่านหนังสืออยู่ห่าง ๆ ก็ขยับมานั่งคุยด้วย ทำให้บรรยากาศคลายความตึงเครียด ต่อมาผู้ป่วยเปรยให้ฟังว่า ไม่กังวลเรื่องมะเร็งแล้ว แต่อยากกินข้าว ทำกับข้าว ไปเที่ยว ฯลฯ วันที่ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารทางปาก เป็นวันที่ ตัวเองได้เรียนรู้ว่า “ความสุขอยู่ใกล้ ๆ หาได้ไม่ยาก”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก