กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคมโต้ “ชัยสิทธิ์” ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน รมว.รง. ไม่โยนปัญหาระบบเครือข่ายข้อมูลกรณีว่างงาน ให้บอร์ดประกันสังคม และสปส. แก้ปัญหาเอง แต่ได้สอบถาม และให้คำปรึกษาแนะนำอย่างต่อเนื่อง รมว.รง. ได้ประชุมด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า รมว.รง. (นายอภัย จันทนจุลกะ) ไม่ได้โยนปัญหาระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลประกันสังคมกรณีว่างงานของสำนักงานประกันสังคมให้คณะกรรมการประกันสังคม และสำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบและแก้ไขเองแต่ประการใด กับได้สอบถามและให้คำปรึกษาแนะนำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมทุกคนมิได้นิ่งเฉย หรือมิใช่ไม่ปฏิบัติงานตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการเข้าใจเองมากกว่า มิเช่นนั้นนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน คงร้องเรียนการปฏิบัติงานและการให้บริการของสำนักงานประกันสังคมกันเสียงดังระงม
สำหรับโครงการเช่าและใช้บริการระบบสื่อสารข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรองรับการประกันสังคมกรณีว่างงาน ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลในการตรวจสอบสิทธิ และประวัติของผู้ประกันตน รวมทั้งเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทน แก่ผู้ว่างงาน ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 และจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนกันยายน 2550 รวม 3 ปี และจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเช่าต่อ เพราะจะมีผู้ประกันตนมาติดต่อเรื่องดังกล่าวอยู่ทุกวัน โดยมีหน่วยงานกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีว่างงาน ช่วยเหลือปฏิบัติงานแทนสำนักงานประกันสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกันตนในการติดต่อขอรับสิทธิประโยชน์กรณีเลิกจ้าง ว่างงานหรือลาออก จะได้รับบริการฉับพลันทันที เป็นการปฏิบัติตาม พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 (1) กำหนดหน้าที่ของโครงการจัดหางาน จะต้องรับขึ้นทะเบียนและจัดหางานที่เหมาะสมให้กับผู้ประกันตน กรณีนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก และใช้จ่ายเงิน กองทุนประกันสังคมเพื่อบริหารสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 24 แห่ง พรบ. ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเช่าและใช้บริการระบบสื่อสารดังกล่าว เพื่อให้บริการในกรณีว่างงานต่อไป
ซึ่งโครงการดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาและดำเนินงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานทั้งระบบแต่อย่างใด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวทั้ง 2 เรื่อง สำนักงานประกันสังคมได้นำเสนอคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งมีทั้งผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้างและส่วนราชการทั้ง 3 ฝ่าย ทราบและพิจารณาให้คำแนะนำมาโดยตลอด และคณะกรรมการประกันสังคม มีความเห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนของโครงการจัดหาและดำเนินงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานทั้งระบบ จึงให้สำนักงานประกันสังคมส่งข้อมูลเพิ่มเติมใหม่และขอทบทวนในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงานได้ลงนามขอทบทวนเรื่องดังกล่าว ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2550 โดยขอทบทวนมติของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีความเห็นว่า สำนักงานประกันสังคมไม่สามารถนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้เป็นค่าเช่าจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นเงินกู้ยืมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการใช้เงินร้อยละสิบ ในการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ มีความเกี่ยวข้องกับทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน
นายสุรินทร์ฯ กล่าวต่อว่า รมว.รง. มิได้เพิกเฉย หรือนิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นของสำนักงานประกันสังคม เช้าวันที่ 16 -17 สิงหาคม 2550 รมว.รง.ได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจึงได้ให้ข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมทั้ง ปรึกษาว่าโครงการประกันสังคมกรณีว่างงานจำเป็นจะต้องเช่าต่อและให้กรมต่างๆ ในกระทรวงแรงงานได้ช่วยสำนักงานประกันสังคมทำงานในการให้บริการลูกจ้าง ผู้ประกันตนต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.แนะผู้ประกันตนที่มีบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี และส่งเงินสมทบครบ 12 เดือนขึ้นไป สามารถยื่นรับสิทธิสงเคราะห์บุตรได้
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.แจงแนวปฏิบัติส่งลูกจ้างและผู้ประกันตนทุพพลภาพเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.เตือนหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ของนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้างต้องรีบแจ้ง ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป