กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของธนาคารกรุงเทพ (“BBL”) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของธนาคารไม่เปลี่ยนแปลงที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ BBL ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))
การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ธนาคารยังได้ผลประโยชน์จากตลาดในระดับภูมิภาคที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น โดยธนาคารมีสินเชื่อในต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 14 ของสินเชื่อรวม แนวโน้มของอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ถึงแม้ว่าผลประกอบการอาจจะอ่อนแอลงเล็กน้อยในปี 2550 อันดับเครดิต IDR ของ BBL ในขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทย การลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ประกอบกับการปรับปรุงในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและระบบธนาคารของประเทศไทย รวมถึงโครงสร้างทางด้านการกำกับดูแลและกฎหมาย จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารในอนาคตได้ เมื่อพิจารณาถึงขนาดของ BBL ความสัมพันธ์ทางสถาบันที่แข็งแกร่ง และความสำคัญที่มีต่อภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลถ้าจำเป็น
สภาพแวดล้อมที่อ่อนแอจะกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารในปี 2550 ถึงแม้จะมีแนวโน้มว่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเครือข่ายของธนาคารที่กว้างขวางจะสนับสนุนผลกำไร นอกจากนี้ธนาคารคาดว่าสินเชื่อภาคธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2551 และจะเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันผลกำไรของธนาคาร
ผลกำไรสุทธิในปี 2549 ลดลง 11.8% มาอยู่ที่ 18 พันล้านบาท จาก 20.4 พันล้านบาท ในปี 2548 โดยมีสาเหตุหลักจากการปฏิบัติตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งอิงตามมาตรฐานการบัญชี IAS39 ในการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 22.6% ในปี 2549 โดยได้รับการสนับสนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อ กำไรจากเงินลงทุนและการจำหน่ายสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับตัวที่ดีของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยน อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.1% ในปี 2549 จาก 2.9% ในปี 2548 เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนเงินให้กู้ยืม ในไตรมาส 1 ปี 2550 ผลกำไรสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท จาก 5.2 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2549 เนื่องจากการขาดทุนจากเงินลงทุนในไตรมาส 1 ปีนี้ เมื่อเทียบกับกำไรจากเงินลงทุนจำนวน 1.7 พันล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ฟิทช์ตั้งข้อสังเกตว่า การขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวลงอาจทำให้กำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยในปี 2550
ในปี 2549 BBL ยังรายงานหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 89.3 พันล้านบาท หรือ 9.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2549 จาก 100.8 พันล้านบาท หรือ 11.1% ณ สิ้นปี 2548 เนื่องจากการตัดบัญชีหนี้สูญ การปรับโครงสร้างหนี้ และการชำระหนี้คืนด้วยเงินสดโดยลูกหนี้ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทรงตัวที่ 9.3% ในขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของ BBL อยู่ที่ 71 พันล้านบาท หรือเท่ากับ 79.4% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีระดับการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่สูงที่สุด
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมของ BBL อยู่ที่ 11.7% และ 14.4% ของสินทรัพย์เสี่ยง ถ้าพิจารณารวมกำไรสุทธิในงวดครึ่งปีหลังของปี 2549 และการจ่ายเงินปันผล อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ BBL จะอยู่ที่ 12.5% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมจะเป็น 15.2% ของสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 12.1% ซึ่งถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่ง
BBL เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 18% ของสินเชื่อ และ 21% ของเงินฝาก ณ สิ้นปี 2549 ธนาคารถูกก่อตั้งในปี 2487 โดยตระกูลโสภณพณิช ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 BBL มีสาขา 748 สาขาในประเทศ และ 19 สาขาในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงมีบริษัทในเครือประกอบธุรกิจด้านหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริหารกองทุน
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
- ม.ค. ๖๖๖๕ ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงเทพที่ 'BBB' และ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- ม.ค. ๔๖๖๒ ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงเทพที่ 'BBB' และ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- ม.ค. ๒๕๖๘ ฟิทช์ประกาศให้อันดับเครดิตแก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของธนาคารกรุงเทพที่ 'BBB’