กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพราะทะเลไม่ได้สวยเพียงแค่ด้านเดียว แต่ทะเลมีความงามทั้งบนชายหาด และภายใต้น้ำทะเลสีคราม นี่คือถ้อยคำที่ออกมาจากจินตนาการของน้องน้อยหน่า ด.ญ.สุดาวรรณ สมประสงค์ จากโรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในเยาวชนผู้เข้าร่วมค่าย “ร่วมพิทักษ์ รักษ์หาดบ้านพ่อ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-4 พฤษภาคม 2550 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยส่วนแหล่งน้ำทะเล กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนไทย ในการอนุรักษ์ และหวงแหนชายหาดทะเลไทย ที่เปรียบดั่งสมบัติของคนไทยทุกคน
ค่ายเยาวชนร่วมพิทักษ์ รักษ์หาดบ้านพ่อ ได้นำเยาวชนจากทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวน 50 คนไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้เห็นสภาพของชายหาดหัวหิน ซึ่งเป็นชายหาดที่สวยงาม แต่กลับถูกบุกรุกจากธุรกิจการท่องเที่ยวจนบางครั้งได้ทำลายทัศนียภาพที่สวยงามของชายหาดไป กิจกรรมภายในค่ายประกอบด้วยกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ ที่ให้เยาวชนได้ศึกษาสิ่งมีชีวิต และคุณภาพน้ำบริเวณชายหาดหัวหิน รวมถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนชายหาด และผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะใช้เป็นเกณฑ์การประเมิน “ชายหาดติดดาว” ที่กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการเพื่อประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยชายหาดที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีมาก จะได้รับการประดับดาว 5 ดาว ซึ่งเมื่อเยาวชนได้ผ่านกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ทำให้เยาวชนในค่ายต่างลงความเห็นว่าชายหาดหัวหินเหมาะสมที่จะได้ประดับดาวชายหาดถึง 4 ดาว
อย่างไรก็ดี นอกจากกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ภายในค่ายยังมีอีกส่วนกิจกรรมหนึ่ง ที่ทำให้เยาวชนได้ปลดปล่อยจินตนาการด้านการอนุรักษ์ นั่นคือ กิจกรรมด้านศิลปะ
“กิจกรรมแลโลกศิลป์” เป็นกิจกรรมวาดภาพสีน้ำ ที่ทำให้เยาวชนได้ถ่ายทอดความคิดและจินตนาการเกี่ยวกับชายหาดและท้องทะเล ซึ่งหลังจากการเสริมทักษะความรู้ และหลักการวาดภาพสีน้ำที่ถูกวิธี โดยอาจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์ประจำคณะจิตกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว เยาวชนส่วนใหญ่ได้บรรจงถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเส้นสายลายน้ำลงสู่แผ่นกระดาษได้อย่างสวยงาม และหนึ่งในภาพทั้งหมดที่ถูกใจคณะกรรมการจนได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ภาพวาดสีน้ำของ ด.ช.วิทวัส รักขันโท หรือ น้องเกรท จากโรงเรียนกิตติคุณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งน้องเกรทสะท้อนความคิดว่า ชายหาดที่สวยงาม เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งหากมีการตั้งร้านค้าในพื้นที่เหมาะสม ไม่ออกมารุกล้ำบนชายหาด ก็จะช่วยให้ชายหาดสวยงาม และทำให้นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวจำนวนมาก
อ.จักรพันธ์ กล่าวว่า ภาพวาดที่ได้รางวัลชนะเลิศนี้ในกิจกรรมครั้ง ไม่เพียงมีแนวคิดที่ดีเท่านั้น หากแต่ผลงานชิ้นนี้ยังได้แสดงออกถึงความเป็นภาพวาดสีน้ำได้อย่างเหมาะเจาะ คือมีความชุ่มช่ำของน้ำกำลังดี สามารถนำเทคนิคที่ใช้ในการวาดภาพ ทั้งการระบายสี และการเกลี่ยสีมาใช้ได้ดี มีการองค์ประกอบของสี และภาพได้อย่างลงตัว ทำให้ภาพนี้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
นอกจากกิจกรรมแลโลกศิลป์แล้ว เยาวชนค่ายร่วมพิทักษ์ รักษ์หาดบ้านพ่อ ยังมีกิจกรรม “ศิลปะบนชายหาด” ซึ่งเป็นการนำขยะที่เหลือทิ้งอยู่ตามชายหาดมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ และแต่งเติมสิ่งประดิษฐ์ให้กลับมีชีวิตขึ้นด้วยเรื่องราวที่สื่อสารถึงความรู้สึกนึกคิดของเยาวชน เพราะไม่ต้องการให้เยาวชนมองขยะเป็นเพียงสิ่งไม่มีค่าที่เกลื่อนกราดอยู่บนชายหาด และต้องกำจัดทิ้งเพียงอย่างเดียว หากแต่ขยะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ จากการนำการมาใช้ใหม่ เช่นการนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า
“เทพธิดาแห่งมหาสมุทร” เป็นชิ้นงานของเยาวชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำลูกมะพร้าวที่ลอยน้ำมาประดิษฐ์เป็นตัวแทนของเทพธิดาที่คอยปกปักษ์รักษ์ท้องทะเลของไทย โดยตัวแทนจากกลุ่มเยาวชน คือ น.ส.พัชราภรณ์ เพิ่มแก้ว (น้องยุ้ย) จากโรงเรียนควนขนุน จังหวัดพัทลุง และน.ส.ณัฏฐนิช พูลศรีสวัสดิ์ (น้องอ๋อม) จากโรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพมหานคร ได้บอกเล่าเรื่องราวจากชิ้นงานนี้ว่า “ในอดีตที่ท้องทะเลมีความสวยงาม เนื่องจากมีเทพธิดาแห่งมหาสมุทรคอยดูแล แต่ทุกวันนี้เมื่อมนุษย์เข้ามามีกิจกรรมบนชายหาดและในท้องทะเลมากขึ้น มนุษย์ค่อยทำลายความสวยงามเหล่านั้นมากจนเกินกว่าที่เทพธิดาแห่งมหาสมุทรจะเยียวยาให้ความสวยงามกลับคืนมาสู่ท้องทะเลได้ เราทุกคนจึงควรหันมาช่วยกันดูแลท้องทะเลและหาดทรายให้กลับคืนมาสวยงามดังเดิม”
ทั้งนี้ แม้กิจกรรมศิลปะจะมีส่วนช่วยให้ขยะบนหาดทราย หรือการรุกล้ำชายหาดน้อยลงไปไม่ได้มากนัก แต่อย่างน้อยงานศิลปะเหล่านี้ก็ได้สะท้อนความคิดของเยาวชนที่มีต่อหาดทรายและท้องทะเล อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งสำนึกส่วนนี้เองที่จะติดตัวเยาวชนที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ให้กลับมาสนใจและมีส่วนร่วมในการทำลายความสวยงามของหาดทรายและท้องทะเลน้อยลง
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
- ๒๒ พ.ย. ไทยหารือ ญี่ปุ่น - เยอรมนี - สิงคโปร์ ในห้วงการประชุม COP29 ยกระดับความร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยล่วงหน้า
- ๒๒ พ.ย. ไทยหารือ ญี่ปุ่น - เยอรมนี - สิงคโปร์ ในห้วงการประชุม COP29 ยกระดับความร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยล่วงหน้า
- ๒๒ พ.ย. ดร.เฉลิมชัย เยี่ยมชม Thailand Pavilion ร่วมกิจกรรมคู่ขนาน COP29 พร้อมถ่ายรูปคู่ "น้องหมูเด้ง" ขวัญใจชาวโลก