กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--อิมเมจ อิมแพค
เจ็ท แอร์เวย์ส เตรียมรุกหนักตลาดการบินพาณิชย์ทั้งเส้นทางบินในอินเดียและต่างประเทศ หลังได้ข้อสรุปชัดเจนในการทุ่มเงินกว่า 14,500 ล้านรูปีเพื่อเทคโอเวอร์ซาฮาร่า แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินร่วมชาติ หวังขยายฐานธุรกิจและเครือข่ายการบิน รวมถึงฝูงบินและทรัพยากรบุคคลที่ขาดแคลนในธุรกิจการบินพาณิชย์และการซ่อมบำรุง ด้านผู้จัดการทั่วไปของเจ็ท แอร์เวยส์ในประเทศไทยไทยชี้การซื้อกิจการของ ซาฮาร่า แอร์ไลน์จะช่วยเสริมธุรกิจการบินของเจ็ท แอร์เวยส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย
เจ็ท แอร์เวย์ส กล่าวในแถลงการณ์ว่าทางสายการบินฯ จะจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ใน ซาฮาร่า แอร์ไลน์ในราว 14,500 ล้านรูปีให้กับกลุ่มซาฮาร่าอินเดียพาริวาซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นดังกล่าว โดยได้ทำการจ่ายค่าหุ้นไปแล้วประมาณ 5,000 ล้านรูปีในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว และมีกำหนดที่จะจ่ายจำนวน 4,000 ล้านรูปีภายในวันที่ 20 เมษายนนี้ และส่วนที่เหลือจำนวน 5,500 ล้านรูปีจะจ่ายภายในปีพ.ศ. 2554
ในแถลงการณ์ยังมีการกล่าวถึงประโยชน์ที่ เจ็ท แอร์เวย์ส จะได้รับจากการซื้อกิจการว่าดีลในครั้งนี้จะทำให้เจ็ท แอร์เวยส์สามารถขยายและสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการของบริษัทได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในแง่ฝูงบิน ทรัพยากรบุคคล และเครือข่ายการบิน อีกทั้งจะช่วยให้สายการบินสามารถลดต้นทุนจากการเพิ่มขนาดกิจการบิน (Economy of scale)
“การซื้อกิจการซาฮาร่า แอร์ไลน์จะทำให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทในตลาดการบินในประเทศอินเดียโดดเด่นและเข้มแข็งยิ่งขึ้น และยังทำให้บริษัทสามารถมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้มากขึ้น เราเชื่อว่าสายการบินทั้งสองจะร่วมกันสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในที่สุด” ผู้บริหาร สายการบินเจ็ท แอร์เวย์ส กล่าวในแถลงการณ์
เจ็ท แอร์เวย์ส มีแผนจะยังคงแยกการบริหารสายการบินทั้งสองออกเป็นสององค์กรเช่นปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะได้เข้ามาถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ในซาฮาร่า แอร์ไลน์แล้ว โดยเจ็ท แอร์เวยส์ จะสนับสนุนซาฮาร่าแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ทั้งในด้านการปฏิบัติการและด้านการเงิน
นางสาวอังสนา สุนทเรกานนท์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย สายการบินเจ็ท แอร์เวย์ส กล่าวว่า การขยายกิจการของสายการบินฯ ในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเจ็ท แอร์เวยส์ได้เปิดบริการเส้นทางบินสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ - เดลี และกรุงเทพฯ - กัลกัตตา จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 และภายในปีนี้ สายการบินฯ จะขยายเส้นทางบินสู่มุมไบ เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย
นางสาวอังสนากล่าวเสริมว่า สถิติของนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างไทยและอินเดียมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเทียบสถิติระหว่างปีพ.ศ. 2547 และปีพ.ศ. 2548 จะพบว่า สถิตินักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 29,835 คน เป็น 37,976 คน หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 27.29 และในระหว่างช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของปีพ.ศ.2549 สถิตินักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปยังประเทศอินเดียเป็นจำนวน 15,317 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.55 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548
เกี่ยวกับสายการบินเจ็ท แอร์เวย์ส:
สายการบินเจ็ท แอร์เวย์ส มีเครื่องบินโดยสารทั้งสิ้น 62 ลำ 49 ลำเป็นเครื่องบิน โบอิ้ง 737-400/700/800/900 แอร์บัส A340-300E 3 ลำ แอร์บัส A330-200 2 ลำ และ โมเดิร์นเอทีอาร์ 72-500 เทอร์โบพร็อพ 8 ลำ เจ็ท แอร์เวย์ส ใช้เครื่องโดยสารเฉลี่ยที่ 5.3 ปี ต่อ 1 ลำ และเครื่องโดยสารที่ใหม่ที่สุดในโลกลำหนึ่งก็อยู่ที่สายการบินเจ็ท แอร์เวย์ส
ปัจจุบันสายการบินเจ็ท แอร์เวย์ส เปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารถึง 340 เที่ยวบินต่อวัน 50 เส้นทาง ทั้งในประเทศอินเดียและบินตรงสู่อีก 6 เมืองหลัก ได้แก่ ลอนดอน สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ โคลัมโบ กาฐมัณฑุ และกรุงเทพฯ สายการบินเจ็ท แอร์เวย์ส มีแผนขยายเส้นทางการบินสู่ทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา และเอเชียในเร็วๆ นี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 จนถึง กุมภาพันธ์ 2550 เจ็ท แอร์เวย์ส มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 70.5 ล้านคน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อบริษัท อิมเมจ อิมแพค จำกัด
โทรศัพท์ 0-2253-6809-12
คุณชุตินันท์ คุณะดิลก ต่อ 118
คุณสุชาดา เติมเตชาติพงศ์ ต่อ 107
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
- พ.ย. ๒๕๖๗ สายการบิน เจ็ท แอร์เวย์ประจำประเทศไทย โปรโมชั่นสุดพิเศษในเส้นทางใหม่ จากกรุงเทพ สู่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
- พ.ย. ๒๕๖๗ การเติบโตในอินเดียของสายการบินเอทิฮัดปรากฏชัดด้วยสถิติผู้โดยสาร
- พ.ย. ๒๕๖๗ เพาะกาย หวังคว้า 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง การแข่งขันเพาะกายชิงแชมป์โลก ที่อินเดีย พร้อมออกเดินทาง อังคาร 26 ต.ค. นี้