แพทย์เตือนหนุ่ม-สาววัยทำงาน ระวังโรคกรดไหลย้อนโรคยอดฮิตของสาวออฟฟิศ

จันทร์ ๒๘ พฤษภาคม ๒๐๐๗ ๑๓:๕๓
กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
แพทย์เตือนหนุ่ม-สาวออฟฟิศ ระวังโรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของหนุ่มสาววัยทำงาน ดารานักแสดง โดยเฉพาะคุณสาวๆออฟฟิศ ที่ชอบกินจุบกินจิบ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลาและเร่งรีบ รวมถึงผู้ชอบอาหารรสจัด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงสูง หากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ ควรปรึกษาแพทย์
รศ.พญ. วโรชา มหาชัย หัวหน้าหน่วยทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า โรคกรดไหลย้อน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิตเหมือนโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง โดยจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ และในบางรายอาจมีอาการแสดงออกนอกหลอดอาหารได้ เช่น อาการทางปอด หรืออาการทางคอและกล่องเสียง เสียงแหบเรื้อรัง มีไอเรื้อรัง มีกลิ่นปาก หรือในบางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้ ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังถูก “โรคกรดไหลย้อน“คุกคาม ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป เพราะหากละเลยไม่ยอมรักษานานๆไปอาจทำให้เรื้อรังกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้เช่นกัน
“เนื่องจากโรคกรดไหลย้อน จะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้ายๆกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมว่าตนเองอาจจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาเคลือบแผลในกระเพาะอาหารมารับประทานเอง ทำให้การรักษาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะคนไทยเรามักจะชอบซื้อยามารับประทานเองและคิดว่าการไปพบแพทย์เป็นเรื่องใหญ่ ระยะหลังมานี้ จึงพบโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ” รศ.พญ. วโรชา กล่าวและเสริมว่า
โรคกรดไหลย้อน ไม่ได้เป็นโรคแปลกใหม่สำหรับคนไทย เป็นโรคที่พบในผู้ป่วยคนไทยมานานแล้ว สาเหตุของโรคเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ หลอดอาหารส่วนปลายมีการคลายตัวอย่างผิดปกติ หรือความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าในคนปกติ หรือเกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร เป็นต้น
“โรคกรดไหลย้อนนี้มักเกิดขึ้นกับหนุ่มสาววัยทำงานที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบlสูงรวมถึงดารานักแสดงและผู้ที่อยู่ในวงการบันเทิง ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความรีบเร่งตลอดเวลา จนทำให้เวลาที่มีอยู่แม้กระทั่งการรับประทานอาหารก็พลอยรีบเร่งไปด้วย มิหนำซ้ำยังมีความเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ที่ชอบกินจุบกินจิบ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รวมถึงผู้ที่ชอบทานอาหารรสจัด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน”
รศ.พญ. วโรชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคกรดไหลย้อนสามารถรักษาให้หายได้ โดยการรับประทานยากลุ่มยาลดกรด แต่ถ้าเป็นมากและเรื้อรังควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับยาที่ตรงกับโรค ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวที่กล่าวมา ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยการรับประทานอาหารให้อิ่มพอดีและอย่ารับประทานอาหารใกล้เวลานอนเพราะจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดน้ำหนักตัว อย่าใส่เสื้อผ้าคับเกินไปเนื่องจากจะเพิ่มความดันในช่องท้องให้มากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้
ผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ทีwww.gerdthai.com
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ)
โทร.0-2718-3800 ต่อ 133 หรือ 081-483 7336

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ