กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา ระวังน้ำป่าไหลหลากในช่วงที่มีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน
นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง เปิดเผยว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนให้จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเฝ้าระวังการเกิดน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยมากที่สุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ความรับผิดชอบ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา จัดเวรยามเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะ จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนหมู่บ้านเสี่ยงภัยมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จำนวน 896 หมู่บ้าน รองลงมา ได้แก่ จังหวัดเชียงราย 568 หมู่บ้าน ซึ่งทางศูนย์เขตได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ดูแลเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นกรณีพิเศษ พร้อมทั้งรายงานปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ทุกระยะ หากเกิดฝนตกหนักในปริมาณมากๆ จะได้เตรียมแผนป้องกัน และพร้อมที่จะอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ส่วนอีก 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีพื้นที่เสี่ยงภัยรวมทั้งสิ้น 1,118 หมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ได้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
นายสัลเลข คำใจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกติดต่อกันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อาจทำให้เกิดภัยธรรมชาติจากภาวะฝนตกหนักได้ จังหวัดลำปางได้ดำเนินการเฝ้าระวังภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมายังไม่หนักมากนัก โดยพื้นที่เสี่ยงภัยมากที่สุดในจังหวัด ได้แก่ อำเภอเมืองปาน ส่วนปริมาณน้ำในน้ำตกแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ยังมีปริมาณปกติไม่มีสีขุ่นเนื่องจากน้ำป่า สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุได้ที่ ศูนย์ฯ ปภ. เขต 10 ลำปาง และสำนักงาน ปภ. จังหวัดในเขตความรับผิดชอบหรือสายด่วน ปภ.1784 ตลอด24 ชั่วโมง