กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
สถาบันเหล็กฯดันแผนตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเหล็ก สร้างประโยชน์เชื่อมโยงผู้ผลิต/ผู้ใช้เหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เบื้องต้นตั้งกรอบเวลาภายใน 5 ปี ภายใต้งานวิจัย 3 หัวข้อ ใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน กรอบระยะเวลา 5 ปี ทำ 3 หัวข้อ หลังเคลียร์การยกเว้นภาษีกับกระทรวงการคลังแล้วก็จัดกองทุนได้เลย พร้อมร่วมจัดสัมมนา พัฒนายกระดับผู้ประกอบการไทย ในงานเมทัลเล็กซ์ 2007
นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย ว่า ท่ามกลางความซบเซาของตลาดเหล็กในประเทศช่วงครึ่งปีแรก แต่ปริมาณการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยกลับขยายตัวมาก อันเป็นผลจากตลาดเหล็กโลกที่คึกคัก โดยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 นี้ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าของไทยสูงถึง 81,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44.6 จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกเหล็กประเภทผลิตภัณฑ์แผ่นรีด เหล็กมุม เหล็กรูปทรงและหน้าตัด ฯลฯ มูลค่าประมาณ 42,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 95.2 จากปีที่แล้ว โดยตลาดหลักๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ประเทศในกลุ่มอาเซียน และญี่ปุ่น แม้ว่า สภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนชะลอตัว การบริโภคลดลง ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ หลายแห่งได้รับผลกระทบ แต่สถานการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ยังไปได้ดีอยู่ โดยทิศทางของการดำเนินธุรกิจเหล็กของไทยในอนาคตที่จะมีการร่วมทุนกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะการร่วมทุนส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางการตลาด และมีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
“ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพแข่งขันกับต่างประเทศได้ สถาบันเหล็กฯเตรียมแผนตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเหล็ก สร้างประโยชน์เชื่อมโยงผู้ผลิต/ผู้ใช้เหล็กให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และร่วมสนับสนุนสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ “การขึ้นรูปเหล็กแผ่นสำหรับกระบวนการปั๊มขึ้นรูปชิ้นงาน และ การออกแบบแม่พิมพ์” ในมหกรรม "เมทัลเล็กซ์" งานแสดงเครื่องจักรกล เทคโนโลยีโลหการ และการประชุมนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยการจัดงานปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 21 ภายใต้แนวคิด "The World of Machine Tools Empowering ASEAN Manufacturing" ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2550 ณ ศูนย์นิทรรศการและงานแสดงสินค้าไบเทค บางนา” นายวิกรมกล่าว
สำหรับ แผนตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเหล็ก สร้างประโยชน์เชื่อมโยงผู้ผลิต/ผู้ใช้เหล็ก นั้นลักษณะกองทุนจะประกอบด้วย 1)เป็นกองทุนกลางโดยเงินอุดหนุนจากภาครัฐและเงินทุนจากเอกชน 2)แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยผู้แทนจากภาครัฐ-ภาคอุตสาห กรรม-สถาบันการศึกษา-สถาบันวิจัย เพื่อกำหนดนโยบาย วางระเบียบ ข้อบังคับการบริหาร การจัด การด้านทรัพย์สินทางปัญญา การแบ่งผลประ โยชน์ของงานวิจัยที่เกิดขึ้น 3)ดำเนินงานวิจัยโดยคลัสเตอร์ R&D 4)ติดต่อและส่งเสริมการร่วมมือกับสถาบันการวิจัยและนักวิจัยในต่างประเทศ 5)ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดทำแผนงานวิจัย และร่วมคัดเลือกหัวข้องานวิจัย 6)สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ในสถาบันการศึกษาเพื่อให้สร้างบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม 7)สร้างและต่อ ยอดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของหน่วยงานวิจัย
โดยกรอบการวิจัยพัฒนาหลักจะมีอยู่ 3 หัวข้อคือ 1)งานวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมโยงและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการปลายทางในส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุตสาหกรรมก่อสร้าง 2)เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพ และ 3)งานวิจัยพัฒนาเพื่อลดการใช้พลังงานและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการวิจัยพัฒนาไม่เกิน 5 ปี ใช้งบประมาณจากการลงขันของภาคเอกชนและการสนับสนุนจากรัฐบาลประมาณ 297.1 ล้านบาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ ผู้ประกอบการมีศักยภาพสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนา และพัฒนาบุคลากร เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานวิจัยที่ต่อเนื่อง สามารถพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง สร้างความรู้ในสถาบันการศึกษาเพื่อดำเนินงานวิจัย เพิ่มจำนวนบุคลากรใหม่ที่ตรงกับความต้องการภาคอุตสาหกรรมได้เร็วยิ่งขึ้น สามารถนำผลวิจัยไปต่อยอดได้ เพื่อยกระดับความสามารถแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชนที่ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาจะได้สิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีถึง 200%
“หากกองทุนวิจัยนี้เกิดขึ้นได้ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กต่อเนื่อง รู้ถึงคุณสมบัติของเหล็ก และทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ผลิตเหล็กก็รู้ว่า จะผลิตอย่างไรให้ผู้ใช้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการนำร่องในเรื่องของการวัดคุณสมบัติเหล็กกับผู้ใช้ต่อเนื่องแล้ว 2 รายคือ บริษัทเคพีเอ็น กับบริษัทซัมมิท ออโต้พาร์ท ผลตอบรับออกมาดีทั้ง 2 ราย มีการผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพขึ้น หากมีงบประมาณก็สามารถขยายผลไปยังผู้ประกอบการรายอื่นได้” นายวิกรมกล่าว
มหกรรม "เมทัลเล็กซ์ 2007" งานแสดงเครื่องจักรกล เทคโนโลยีโลหการ และการประชุมนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 21 จัดระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2550 ณ ไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด "The World of Machine Tools Empowering ASEAN Manufacturing" .ใช้พื้นที่กว่า 46,000 ตารางเมตร เต็ม6 ฮอล และซูเปอร์โดม มีกิจกรรมสำคัญๆ ได้แก่ การแสดงเครื่องจักรเทคโนโลยีโลหการ กว่า 3,900 รายการ จาก 2,600 บริษัททั่วโลก, มีผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศกว่า 50,000 ราย และการประชุมสัมมนาที่เป็นประโยชน์กว่า 750 ข้อ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมสำหรับการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อในอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ยานยนต์ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และหาพันธมิตรใหม่ของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่มขึ้น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
- ๒๔ ธ.ค. EXIM BANK คว้ารางวัล Bank of The Year 2024 สุดยอดธนาคารแห่งปี 2567
- ๒๔ ธ.ค. ธอส. จัดผลิตภัณฑ์ทางการเงินส่งท้ายปี ร่วมงาน Thailand Smart Money กรุงเทพ ครั้งที่ 15 ชูสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นเพียง 0.71% ต่อปี เท่านั้น!
- ๒๔ ธ.ค. ไทยพาณิชย์สนับสนุน โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบาง สร้างวินัย แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน