กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--TCELS
น.พ.ธงชัย” แจง 2 ปี TCELS ผลงานเพียบ เตรียมเดินหน้าพัฒนางานต่อเนื่องเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ทันสมัย เน้น ความพอเพียงอย่างรู้ทันเทคโนโลยี เชื่ออนาคตสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่คนไทยได้
นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า TCELS เป็นองค์กรบริหารงานเชิงรุกด้านชีววิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นศูนย์กลางการจัดการองค์ความรู้ให้เกิด และเพิ่มมูลค่าในด้านชีววิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพของประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัย เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพของคนไทยและผลักดันให้งานวิจัยก้าวไปสู่ในระดับอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีทางชีววิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้น มีการพัฒนาธุรกิจด้านอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ชีวภาพในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงแนวคิดในการรักษาและการใช้ยาที่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของคนไทยได้ โดยยึดหลักความพอเพียง รู้ทันเทคโนโลยี
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา TCELS ได้ดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ภายใต้ 2 ยุทธศาสตร์หลักคือ 1.พัฒนาผลิตภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์และบริการสุขภาพ ก่อกำเนิดโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics) ขณะนี้มีการพัฒนาแล็ปขึ้นแล้ว 2 แห่งคือ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันราชานุกูล ทำการรวบรวมฐานข้อมูลพันธุกรรมของคนไทย และจัดทำโปรแกรมวิเคราะห์โรคทางเภสัชพันธุศาสตร์จนเป็นผลสำเร็จแล้ว 2 โรคคือ เอดส์ และ PTSD ซึ่งจะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยรายใดแพ้ยาชนิดใด และต้องใช้ยาในปริมาณเท่าไร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาแบบลองผิดลองถูก โดย TCELS สนับสนุนการวิจัยด้วยการมอบทุนและเชื่อมโยงนักวิจัยต่างชาติ เพื่อทำให้การวิจัยสำเร็จเห็นผลได้รวดเร็ว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ สนับสนุนการลงทุนชีววิทยาศาสตร์ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ก่อให้เกิดโครงการต่าง ๆ มากมายประกอบไปด้วย 1. ศูนย์สัตว์ทดลองเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดย TCELS สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศูนย์ทดสอบนี้ ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ 2.โครงการทดสอบยาทางคลินิก ขณะนี้เกิดศูนย์วิจัยทางคลินิกของประเทศไทยขึ้นแล้ว 3 แห่ง 3. โครงการเฝ้าระวังไข้หวัดนกในสัตว์ปีกด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในกลุ่มประเทศอาเซียน 4. โครงการพัฒนาสารสกัดจากน้ำยางพาราสู่อุตสาหกรรม ขณะนี้ผ่านขั้นตอนการทดลองที่สำคัญ และได้จดอนุสิทธิบัตรในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 5. โครงการวิจัยทางคลินิกเพื่อพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้คลื่นความถี่สูง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย 6. การพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางการแพทย์ (Growth Hormone) 7. โครงการอบรมหลักสูตร Mini MBA in Life Sciences Management เป็นครั้งแรก มีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวน 33 คน 8.โครงการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ขณะนี้เกิดสำนักงานบริหารเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCELS กล่าวด้วยว่า แม้งานด้านชีววิทยาศาสตร์จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่แนวโน้มจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น TCELS ได้พยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และต่อยอดการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อเชื่อมประสานทุกหน่วยให้เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยยึดหลักความพอเพียง รู้ทันและเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับคนไทย เพื่อการพัฒนาดังกล่าวจะนำไปสู่การมีเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง สามารถดึงการลงทุนจากทั่วโลกมาสู่ประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยได้