กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กทม.
ห่วงไทยติดอันดับ 4 ผู้ป่วยเบาหวานมากที่สุดในเอเชีย จับมือ 4 ภาคี รณรงค์สร้างสังคมตระหนักภัยจากโรคเบาหวาน เตรียมจัดมหกรรมให้ความรู้ป้องกันโรค และการดูแลสุขภาพ 20-21 ตุลาคม 50 ณ สวนลุมพินี ด้านกทม. พร้อมดึงบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกหน่วยลงพื้นที่ปรับพฤติกรรมชุมชน สิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีของคนกรุงเทพฯ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการรณรงค์โรคเบาหวาน และอุปนายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานกรรมการจัดงานมหกรรมเบาหวาน และนายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว การจัดงาน "มหกรรมเบาหวาน...เบาใจ" ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สมาคมโรคเบาหวานแห่งชาติ และสมาคมไร้ท่อแห่งประเทศไทย จัดขึ้นในวันที่ 20 - 21 ต.ค. 50 ณ สโมสรพลเมืองอาวุโสแห่งเมืองกรุงเทพฯ อาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคเบาหวานแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรณรงค์ให้สังคมตระหนักว่าโรคเบาหวานไม่ใช่โรคน่าอับอาย ผู้ที่เป็นเบาหวานและควบคุมเบาหวานได้ดีจะทำทุกอย่างได้อย่างเท่าเทียมกับเมื่อยังไม่เป็นเบาหวาน รวมทั้งเพื่อให้ทุกคนทำความรู้จักกับโรคเบาหวาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานขึ้น โดยในงานจะมีกิจกรรม "เดิน-วิ่งสู้เบาหวาน" และกิจกรรมให้ความรู้ รวมถึงจัดเวทีเสวนา ในหลากหลายหัวข้อ อาทิ "ทำอย่างไรให้ไกลเบาหวาน" "คุณแม่เบาหวานและหนูน้อยในครรภ์" และ"สุขภาพดี ชีวีมีสุขกับเบาหวาน" จากแพทย์ผู้มีความรู้และผู้มีประสบการณ์จริง
นพ.ณรงค์ กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่พบว่า โรคเบาหวานเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตชีวิตคนทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มรุนแรงขึ้น โดยเมื่อปี 2548 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานประมาณ 1.1 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 2 คน ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวาน ทั่วโลกกว่า 246 ล้านคน ประเทศในเอเชียที่มีผู้ป่วยเบาหวานมากที่สุดคือประเทศอินเดีย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 สาเหตุหลักมาจากความอ้วนและน้ำหนักเกิน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการไม่ออกกำลังกาย และการการกินผักน้อย โดยไขมันที่เพิ่มขึ้นในคนอ้วน จะทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดี นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้น้อย ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ขณะนี้พบคนไทยเริ่มมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ อยู่ในภาวะเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานเพิ่มอีก 6 ล้านคน จังหวัดที่มีอัตราเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 4 อันดับ ได้แก่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ร้อยเอ็ด และอุดรธานี ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการตายและค่าใช้จ่ายในการรักษา กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำร่างแผนเบาหวานแห่งชาติ และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อผลักดันเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวยืนยันความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยสามารถดูแลได้ทุกระดับ เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านบุคลากร สหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ จิตแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์เวชศาสตร์ชุมชน และอาสาสมัครชุมชน ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง รวมทั้งศูนย์สุขภาพสาขา และศูนย์สุขภาพชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมในชุมชนและในบ้านเพื่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัว ทั้งอาหาร การออกกำลังกาย การป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่างๆ ด้วย