กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--สกว.
ทฤษฎีอลวน(Chaos) หรือเคออส เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวกับระบบต่าง ๆที่มีความยุ่งเหยิงและขาดระเบียบ แต่ยังมีกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถควบคุมได้ จึงมีการนำทฤษฎีนี้มาต่อยอดใช้เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้น ดังกรณีการดักฟังความลับทางโทรศัพท์ ที่กำลังเป็นปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งในอนาคตปัญหาดังกล่าวอาจหมดไป
โครงการ ระบบสื่อสารและควบคุมแบบชาญฉลาดสำหรับหุ่นยนต์อลวน โดย รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา ภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)จึงได้ทดลองออกแบบนำสัญญาณแบบอลวน มาประยุกต์ใช้ในโทรศัพท์โดยมีกระบวนการคร่าวๆ เช่น ใช้วิธีส่งสัญญาณอลวนเป็นสัญญาณเสียงคอยรบกวนจากหลายทิศทาง ทำให้การดักฟังของบุคคลที่สามไม่สามารถทำได้ แต่การใช้งานในโทรศัพท์ต้นสายและปลายสาย ยังสามารถพูดคุยกันได้เป็นปกติ เนื่องจากมีรหัสสัญญาณแปลงข้อความเหล่านั้น เราจึงเรียกการสื่อสารด้วยระบบนี้ว่า เป็นการสื่อสารอย่างชาญฉลาด ซึ่งขณะนี้กำลังยื่นขอจดสิทธิบัตร เพื่อต่อยอดงานวิจัยนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพการทำงานของระบบสื่อสารดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)จึงได้จัดงานแถลงข่าว เรื่อง “สัญญาณอลวน ขจัดการดักฟังทางโทรศัพท์” ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2550 ณ ห้องประกายเพชร โรงแรมเอเชีย ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น.
กำหนดการงานแถลงข่าว
10.00 น. ลงทะเบียน
10. 15 น. พิธีเปิดโดย
- ศ.ดร.วิชัย บุญแสง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว.
10.30 น. แถลงข่าวเรื่อง “สัญญาณอลวน ขจัดการดักฟังทางโทรศัพท์”
โดย รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา ภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง
11.00 น. สาธิตการทำงานของเครื่องดักฟังทางโทรศัพท์
11.30 น. สรุป/ตอบข้อซักถาม
( ดำเนินรายการโดยคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ประชาสัมพันธ์ สกว.