ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนและการจัดการกองทุนรวม และหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

พุธ ๑๖ พฤษภาคม ๒๐๐๗ ๑๔:๐๖
กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 5/2550 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนและการจัดการกองทุนรวม และหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ดังนี้
1. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน
กำหนดให้กองทุนสามารถลงทุนในประเภทหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินต่างประเทศได้เทียบเท่ากับประเภทหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในประเทศ และกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ ดังนี้
- หลักทรัพย์และทรัพย์สินที่จะลงทุนต้องมีการเสนอขายในประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแล
เป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO หรือประเทศที่มีตลาดหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ WFE
- การลงทุนนั้นต้องไม่ทำให้การจัดการกองทุนเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์ หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น และไม่ทำให้กองทุนขาดทุนเป็นมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการลงทุน
- บริษัทจัดการต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ไปลงทุนเป็นภาษาอังกฤษผ่านทาง internet โดยข้อมูลด้านราคาหลักทรัพย์และทรัพย์สิน จะต้องมีความน่าเชื่อถือ อ้างอิงได้
และสอดคล้องตามหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- มีการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุน ที่เทียบเท่ากับการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ในประเทศที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานทางการ
ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินบางประเภทเพิ่มเติม ดังนี้
- การลงทุนในเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินงาน รอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน ให้หมายรวมถึงการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน (money market fund) ด้วย
- กำหนดอัตราส่วนการลงทุนในกลุ่มบริษัทเดียวกันให้ไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
เพื่อมิให้การจัดการลงทุนกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากเกินไป
- กรณีที่บริษัทจัดการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด OTC คู่สัญญาของบริษัทจัดการจะต้องเป็นสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO หรือ WFE และต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระยะยาว (long term rating) ในระดับ investment grade
- ให้ ก.ล.ต. สามารถกำหนดเพิ่มเติมสินค้า หรือตัวแปร ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและ structured note และประเภทหน่วยลงทุนที่กองทุนรวมสามารถลงทุนได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการ
ของตราสารในตลาดการเงินทั้งในและต่างประเทศ
การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้บริษัทจัดการสามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินต่างๆ ในต่างประเทศได้หลากหลายมากขึ้น โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่เหมาะสมและการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ
2.หลักเกณฑ์การลงทุนและอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น
- โดยที่กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งจะรักษาเงินต้นจากการลงทุน (มิได้ประกันว่าผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนอย่างแน่นอนเหมือนเช่นกองทุนรวมประเภทมีประกัน) ดังนั้นบริษัทจัดการต้องกำหนดสัดส่วนการลงทุนในส่วนที่จะก่อให้เกิดการคุ้มครองเงินต้น ที่แสดงได้ว่าสามารถคุ้มครองเงินต้น ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งเปิดเผยกลไกการคุ้มครองเงินต้นไว้ในโครงการอย่างชัดเจน
- กำหนดประเภทตราสารที่ลงทุนในส่วนที่จะคุ้มครองเงินต้นให้ลงทุนได้เฉพาะตราสารที่มี
ความเสี่ยงต่ำเท่านั้น ซึ่งได้แก่ (1) ตราสารภาครัฐไทย หรือตราสารภาครัฐต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ใน 2 อันดับแรกของ S&P, Moody, Fitch หรือสถาบันจัดอันดับต่างประเทศอื่นที่ ก.ล.ต. ยอมรับ (2) เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ และ (3) ตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือตราสารอื่นใดที่มีความเสี่ยงต่ำหรือเทียบเคียงตราสารภาครัฐ
- เพิ่มอัตราส่วนการลงทุนในเงินฝากธนาคารพาณิชย์ หรือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ในกลุ่มบริษัทเดียวกันได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เป็นการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจำกัดอัตราส่วนการลงทุนในกลุ่มบริษัทเดียวกันด้วย)
- หากลงทุนในต่างประเทศ ต้องทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด
การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การลงทุนในส่วนที่จะก่อให้เกิดการคุ้มครองเงินต้น ต้องลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
3.หลักเกณฑ์การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลในการเสนอขายตราสารหนี้สำหรับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
ให้ยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลสำหรับการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ในประเทศที่ออกโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและอยู่ในรายชื่อที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด โดยในเบื้องต้น ก.ล.ต. ประกาศรายชื่อผู้ได้รับยกเว้น ดังนี้
(1) Asian Development Bank (ADB)
(2) International Monetary Fund (IMF)
(3) International Finance Corporation (IFC)
(4) International Bank for Reconstruction and Development (World Bank)
ทั้งนี้ สถาบันการเงินทั้งสี่มีการเปิดเผยฐานะการเงินที่เป็นปัจจุบันผ่านทางเว็บไซต์ และได้รับ
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดย rating agency ระดับนานาชาติในระดับ AAA
หมายเหตุ
IOSCO = International Organizations of Securities Commission
WFE = World Federation of Exchange
ฝ่ายงานเลขาธิการ - Press Office
สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
โทร. 0-2695-9503-5
e-mail: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ