กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กฟน.
บ่ายวันนี้ ที่อาคารหอประชุม ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทำพิธีมอบใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สาม ระยะเวลา 20 ปี แก่นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอารีย์ วงศ์อารยะ ร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้การมอบใบอนุญาตเป็นนโยบายที่ กทช. สนับสนุนให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่กิจการโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม กทช. พร้อมที่จะอนุมัติและมอบใบอนุญาต ถ้าผู้ขอมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายกำหนด
พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ กทช. มอบใบอนุญาตให้ กฟน. ในครั้งนี้ก็เนื่องด้วย เล็งเห็นว่า โครงข่ายของใยแก้วนำแสง (Fiber Optic)และโครงข่ายสายไฟฟ้าจำหน่ายแรงต่ำ (Low Voltage Power Line) ของการไฟฟ้านครหลวงที่ให้บริการกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถให้บริการโทรคมนาคมได้ ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด พลเอกชูชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประเทศจะได้มีเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงแล้วยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการเลือกใช้เครือข่ายที่มีบริการ และราคาที่ดีที่สุด
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงเปิดเผยถึง การให้บริการทั้งหมดว่า ประกอบด้วย การให้เช่าใช้โครงข่าย Fiber Optic และโครงข่าย Low Voltage Power Line เพื่อให้บริการโทรคมนาคม, การให้บริการ Video Conference การให้บริการ Voice Over IP และการให้บริการ High Speed Internet ผ่าน Fiber Optic และผ่าน Low Voltage Power Line ซึ่งจะดำเนินการตามความเหมาะสมทางการตลาด โดยเริ่มต้นจากเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน ด้วยการให้บริการเครือข่ายเสมือนตัว (Virtual Private) สำหรับกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ก่อน ในไตรมาสแรกของปี 2551 จากนั้นจึงจะขยายออกไปสู่เขตกรุงเทพมหานครชั้นนอก และปริมณฑลพร้อมๆไปกับการขยายกลุ่มผู้ใช้บริการไปยังองค์กรขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในต้นปี 2553
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า สำหรับการคิดค่าบริการนั้น เนื่องจาก กฟน. เป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่ในการให้บริการแก่สังคมโดยรวม และไม่ได้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมโดยตรง การนำโครงข่ายในส่วนที่เหลือจากการใช้งานมาปรับปรุงเพื่อให้บริการนี้ทำให้ต้นทุนทางการตลาดต่ำ จึงสามารถที่จะให้บริการที่มีคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การให้บริการอินเตอร์เนตความเร็วสูงผ่านปลั๊กไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่แห่งแรกของประเทศ ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม กฟน. คงไม่ได้ใช้ราคาเป็นกลไกหลักในการทำตลาด เนื่องจากการใช้นโยบายทุ่มราคา อาจส่งผลเสียหายต่อระบบธุรกิจและประชาชนโดยรวม การกำหนดอัตราค่าบริการในแต่ละประเภท จึงจะได้มีการพิจารณาโดยรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง