กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--TCELS
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน น.พ.ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และหน่วยงานเฉพาะด้านทั้ง 7 แห่ง โดยระบุว่าใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นั้น TCELS ในฐานะเป็นหนึ่งในหน่วยงานเฉพาะด้านขอขอบคุณ สตง.ที่ได้สละเวลาส่งทีมงานมาวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน
น.พ.ธงชัย กล่าวว่า ผลการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ TCELS ในปี 2547 — 2548 ไม่พบจุดใดเป็นปัญหามีเพียงข้อแนะนำให้ดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีคณะกรรมการบริหารกำกับอย่างใกล้ชิด ระบบการตรวจสอบโปร่งใส ซึ่งในการบริหารงานของ TCELS นั้น แตกต่างจากภาครัฐอื่น โดยเน้นที่มีความคล่องตัวโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการของ TCELS ซึ่งภารกิจของเรามุ่งเน้นที่การต่อยอดงานวิจัยที่เป็นอัจฉริยะ หรือเป็นผลงานยอดเยี่ยมของนักวิจัยไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก แต่ยังขาดกระบวนการต่อยอดระบบการผลิตและบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือนำมาแก้ปัญหา การสาธารณสุขของประเทศไทยเอง
สำหรับในปีงบประมาณ 2551 นี้ TCELS ได้รับการพิจารณาเพิ่มงบประมาณเบื้องต้น 163 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8% ทั้งนี้โครงการที่สำคัญที่ TCELS จะดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ที่จะดำเนินการในระดับโลก นับเป็นข่าวดีของคนไทยในรอบ 80 ปีของการสาธารณสุขไทย ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่โครงการแรกคือ 1.ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บจากรก ขณะนี้ได้นำมาใช้ในการรักษาโรคธาลัสซีเมียหรือโรคเลือดจาง ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้ป่วยเนื่องจาก หากเรานำเข้าสเต็มเซลล์จากต่างประเทศ จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท จึงเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะกับคนไทย โดยธนาคารดังกล่าวใช้ระบบการบริจาคจากประชาชน มีเครือข่ายกระจายทั่วประเทศ เป็นการพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพโดยแท้จริง 2.โครงการติดตามระบบสุขภาพคนไทยอย่างต่อเนื่อง (Asian Cohort) โดยจะมีการติดตามสุขภาพระยะยาวของคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 40-65 ปี จำนวนกว่า 200,000 คน โดยจะมีการติดตามผลเลือด อาการป่วยการรักษา รวมทั้งภาวะเสี่ยงอื่น เช่น มะเร็ง เรื่องดังกล่าวมีในต่างประเทศดำเนินการแล้ว แต่ในภูมิภาคนี้ยังไม่มี จะทำให้ประเทศไทยสามารถที่จะวางมาตรการควบคุมป้องกันโรคเป็นการเฉพาะ โดยในสัปดาห์หน้านี้ ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการ TCELS และ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มนวัตกรรมทางชีววิทยาศาสตร์ของเอเปค (APEC Life Sciences Innovation Forum) จะนำเสนอในที่ประชุม สุดยอดผู้นำทางสุขภาพของแปซิฟิก (Pacific Health Summit) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เข้าประชุมล้วนเป็นผู้นำระดับโลกทั้งสิ้น
น.พ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการในรอบ 3 ปี ที่ TCELS ต่อยอดงานวิจัยที่กำลังใกล้เห็นผลเป็นรูปธรรม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของหลายโครงการ เช่น โครงการผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวจากน้ำยางพารานับเป็นแห่งแรกของโลก ขณะนี้อยู่ในขั้นจดสิทธิบัตร โดยจะมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการขายสิทธิบางส่วนเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในตลาดครีมหน้าขาวมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และกำลังเป็นนิยม แต่คุณสมบัติของยางพาราไทย มีประสิทธิภาพทนความร้อนสูงกว่า ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจจะผลิตสารสกัดตัวนี้จะใช้เงินลงทุนไม่ถึง 100 ล้านบาท โดย TCELS จะเสนอ สบร.เพื่อนำเข้า ครม.ในการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป
โครงการผลิตโปรตีนที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ขณะนี้สามารถผลิตและทดสอบในสัตว์ทดลองได้ผลแล้ว และพร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ โครงการผลิตวัคซีนไข้เลือดออก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนออกแบบโรงงานผลิตวัคซีนในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อนำวัคซีนไปทดสอบในคนต่อไป ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าในการป้องกันสูง และจะให้องค์การอนามัยโลก มาประเมินมาตรฐานจีเอ็มพี โครงการจัดตั้งศูนย์สัตว์ทดลองเพื่อผลิตและบริการ ขณะนี้ได้ปรับปรุงสถานที่เลี้ยงสัตว์ทดลองเสร็จเรียบร้อยแล้ว และหนูจะคลอดในอีก 3 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ยังดำเนินการความร่วมมือในระดับนานาชาติในโครงการร่วมประชุม ที APEC Life Sciences Innovation Forum ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอ 2 โครงการใหญ่ที่ได้รับการยอมรับในเวทีดังกล่าวคือ โครงการการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปใช้ในการบริหารการรักษาโรคเอดส์ และโครงการติดตามด้านระบาดวิทยาของไข้หวัดนก ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งศูนย์กลางในการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net