กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--TCELS
ปัญหา CL ไม่กระทบการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ตามคาด TCELS หอบนักลงทุนกลับบ้านอื้อ หลังร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรโชว์นวตกรรมชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพที่ประเทศสหรัฐ เผยทั้งบริษัทยา, ภาครัฐ และเอกชนจากทั่วโลกสนใจทำการวิจัยยาใหม่ในประเทศไทย เชื่อเงินไหลเข้าประเทศมหาศาลแน่
หลังจากที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) นำโดย ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการบริหาร TCELS พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรประกอบไปด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร(Agricultural Research Development Agency :ARDA) ได้ร่วมออกบูธนิทรรศการในงานไบโอ อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเวนชั่น ( Bio International Convention ) จัดขึ้นณ นครบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นงานแสดงความก้าวหน้าด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมชมบูธประเทศไทยถึงกว่า 1,500 คน
นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCELS กล่าวว่า ตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่า การไปร่วมงานระดับโลกอย่างไบโอ อินเตอร์เนชั่นแนลที่สหรัฐนั้น อาจเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากสหรัฐกำลังจับตามองประเทศไทยเป็นพิเศษ ในเรื่องมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรหรือ CL ที่กำลังเป็นปัญหากันอยู่ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันและได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจาก CL เกี่ยวข้องกับยาที่ผลิตขึ้นมาแล้วอยู่ในขั้นตอนของการขาย แต่สิ่งที่เรานำเสนอกับนักลงทุนเป็นเรื่องของการวิจัยเพื่อการผลิตยาใหม่ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมและมีจุดแข็งหลายประการที่กลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่มี คือ มีกลุ่มโรคที่หลากหลาย มีกลุ่มประชากรที่หลากชาติพันธุ์ แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี และพูดภาษาเดียวกัน มีระบบการพิจารณาจริยธรรมที่รวดเร็วเน้นปกป้องสิทธิของผู้ป่วยอย่างเข้มแข็ง มีเครื่องมือทันสมัยในการดำเนินการวิจัย ขณะเดียวกันการทำวิจัยของกลุ่มประเทศในแถบอเมริกาและยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะมีต้นทุนการผลิตยาใหม่ที่สูงกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว เนื่องจากติดปัญหาหลายประการ จึงเป็นโอกาสของเราที่จะได้รับส่วนแบ่งตลาดด้านนี้เนื่องจากเรามีต้นทุนที่ต่ำกว่า
“ จากจุดแข็งดังกล่าว ทำให้การออกบูธในครั้งนี้ เราได้นักลงทุนที่สนใจร่วมลงทุนทำงานวิจัยในประเทศไทยประมาณ 10 รายซึ่งจะได้มีการประสานงานกันต่อไป และในส่วนของ stem cells มีนักลงทุนสนใจหลายสิบราย โดยได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU)ไปแล้วกับบริษัทเอกชนต่างประเทศ 1 ราย รวมทั้งมีผู้สนใจงานด้าน stem cells ในประเทศไทยอีกหลายราย ที่แสดงความจำนงให้ TCELS เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของประเทศอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีเจ้าของเทคโนโลยีที่สนใจถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตยาใหม่ให้กับประเทศไทยด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCELS กล่าวในตอนท้าย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net