กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--กรมบัญชีกลาง
นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยตัวเลขค่ารักษาพยาบาล ในระบบจ่ายตรงของผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก จนถึงเดือนพฤษภาคม 2550 มีการจ่ายเงินให้สถานพยาบาลแล้วถึง 22,729,865,141 บาท โดยไม่มียอดค้างเงินค่ารักษาให้สถานพยาบาลใด ตามที่สถานพยาบาลบางแห่งกล่าวอ้าง
นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้พัฒนาโครงการจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเบิกค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และบุคคล ในครอบครัวผู้มีสิทธิ จนถึงปัจจุบัน มีข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ รวมถึงบุคคลในครอบครัวสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้วจำนวน 4,159,463 ราย และเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ ผ่านโครงการฯ กว่า 900 แห่ง จำนวน 7,068,084 ครั้ง เป็นเงินที่เบิกจ่ายแล้วจำนวนรวมทั้งสิ้น 12,238,381,066.17 บาท
ในการจ่ายเงินผ่านระบบ GFMIS สถานพยาบาลจะส่งข้อมูลค่าใช้จ่ายและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบ เช่น มีผู้ป่วยกี่ราย สังกัดหน่วยงานใดบ้าง มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เป็นต้น เมื่อกรมบัญชีกลางตรวจสอบถูกต้องครบถ้วน ก็แจ้งกลับให้สถานพยาบาลจัดทำคำขอเบิกเข้ามาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามโปรแกรมที่กำหนดทุกสิ้นสัปดาห์ และดำเนินการ Interface ข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วเข้าสู่ระบบ GFMIS เพื่อดำเนินการอนุมัติคำขอเบิกและโอนเงินให้สถานพยาบาลในวันทำการถัดไปโดยอัตโนมัติ โดยกรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้สถานพยาบาล กรณีผู้ป่วยใน เดือนละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยนอกจะโอนเงินให้เดือนละ 2-4 ครั้ง ตามคำขอเบิกที่โรงพยาบาลจัดส่ง ซึ่งวิธีปฏิบัติดังกล่าวสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทราบและถือปฏิบัติมาโดยตลอด
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า จากที่มีการเผยแพร่ข่าวว่ากรมบัญชีกลางมีการค้างจ่ายเงินค่ารักษาฯ ของข้าราชการ 114 ล้านบาท และใช้เวลาในการอนุมัตินานถึง 2 เดือน นั้น ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วปรากฏว่า เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน กรมบัญชีกลางมีการเบิกเงินค่ารักษาให้ศูนย์ฯ ดังกล่าวตั้งแต่เดือน ต.ค.49 ถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2550 โดยได้มีการโอนเงินตามรอบระยะเวลา รวมทั้งสิ้น 176.82 ล้านบาท เป็นผู้ป่วยนอก 93.03 ล้านบาท ผู้ป่วยใน 83.79 ล้านบาท
และกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบบจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลนั้น ไม่ว่าจะเป็นจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน ที่ใช้ระบบ DRG กรมบัญชีกลางมีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ในส่วนของประชาชนก็จะคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นประการแรก รวมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญด้วย