กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย
ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงกุ้งกำลังถูกออสเตรเลียเล่นแง่ที่จะไม่ให้สินค้ากุ้งเข้าประเทศ โดยใช้มาตรการ/ข้ออ้างที่ไม่ชอบธรรม ที่เรียกว่ามาตรการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการนำเข้า หรือ ไออาร์เอ (Import Risk Analysis-IRA) มากล่าวอ้าง เพียงเพื่อจะปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีอยู่เพียงประมาณ 30 กว่าฟาร์ม ที่เข้าร้องเรียน หลังจากเห็นว่าประเทศต่างๆได้ส่งกุ้งเข้าไปมาก โดยเฉพาะกุ้งไทยซึ่งได้รับความนิยมมากในแง่คุณภาพและราคา จึงไม่อยากให้กุ้งไทยเข้าไปขายแข่งในประเทศออสเตรเลีย จริงๆ แล้ว การที่ไทยทำเอฟทีเอกับออสเตรเลีย ไทยเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ เหมือนอย่างที่ผู้เลี้ยงโคนมของไทยได้รับผลกระทบจากการที่สินค้าผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลียเข้าไทยได้อย่างเสรี ซึ่งเท่ากับเป็นการฆาตกรรมผู้เลี้ยงวัวนมกว่า 30,000 ครอบครัวทั่วประเทศ จึงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำนมดิบตกต่ำ
“รัฐบาลออสเตรเลียได้นำมาตรการไออาร์เอมาใช้ตอบสนองกับสินค้ากุ้งนำเข้าอย่างรวดเร็ว ด้วยข้ออ้างทางด้านเชื้อไวรัส เพื่อห้ามนำเข้ากุ้งจากไทยและต่างประเทศไปยังออสเตรเลีย ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกเคยใช้มาก่อน และขณะนี้อยู่ระหว่างร่างมาตรการฯ และเพื่อดูให้มีความชอบธรรม ออสเตรเลียได้ส่งร่างมาตรการดังกล่าวส่งให้ส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณา เหมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้ส่งข้อโต้แย้งได้ ภายใน 21 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งๆที่จะประกาศใช้แล้ว นับว่าเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง”
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้เลี้ยง และเป็นผู้ส่งออกกุ้งมากที่สุดเข้าออสเตรเลีย และไทยก็ให้เอฟทีเอแล้ว แต่ออสเตรเลียยังจะเอาเปรียบอุตสาหกรรมกุ้งไทยอีก ซึ่งจะกระทบคนเป็นล้านคน เพียงใช้ข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกกุ้งไปทั่วโลก มากกว่า 1 ล้าน 5 แสนตัน ก็ไม่เคยมีรายงานว่ากุ้งไทยไปทำให้มีการติดเชื้อให้กับกุ้งท้องถิ่น ทั้งตลาดอเมริกา ญี่ปุ่น อียู ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยเรา แล้วอยู่ๆ ออสเตรเลียจะมาอ้างเรื่องนี้เพื่อกีดกันกุ้งไทยอย่างไม่เป็นธรรมได้อย่างไร ความจริงแล้ว สินค้าสัตว์เป็นทุกชนิดจะมีเชื้อต่างๆอยู่ในตัว ซึ่งเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เช่น ปูเป็น (มีชีวิต) ปลาเป็น ที่ออสเตรเลียส่งไปขายในประเทศต่างๆในเอเชีย หากว่ามีการตรวจกันจริงๆก็มีเชื้อเหมือนกัน ไม่ยุติธรรมเลย ...หากออสเตรเลียประกาศใช้มาตรการนี้จะทำให้ไทยไม่สามารถส่งกุ้งไปขายได้ หรือส่งไปขายก็ลำบาก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกอย่างปลอดเชื้อ ถ้าได้ต้องเอากุ้งไปต้มจนเปื่อยเสียก่อน ซึ่งเรื่องนี้ออสเตรเลียก็ได้ทำกับไก่ไทยมาแล้ว เลยห้ามไก่สดแช่แข็งเขา หรือกว่าจะเข้าได้ต้องไปต้มเป็นชั่วโมงจนหมดสภาพ ถึงวันนี้ไก่ไทยก็ไม่สามารถขายในออสเตรเลียได้ แต่สามารถส่งไปขายที่ตลาดยุโรป หรืออื่นๆได้โดยไม่ไปทำให้ใครเสียหายทั้งสิ้น
นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวด้วยว่า ในฐานะตัวแทนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ขอเรียกร้องให้ ภาครัฐของไทยต้องรีบเข้าไปเจรจาต่อรอง โดยทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างประเทศ ต้องผนึกกำลังกันเต็มที่ และกล้าที่จะเจรจาต่อรอง ปกป้องผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของประเทศ ต้องกล้าที่จะปกป้องพี่น้องเกษตรกรคนไทยที่มีเป็นแสนคน อย่าหลงกลพวกฝรั่ง หรือคิดว่าฝรั่งจะเก่ง ถ้าออสเตรเลียอ้างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ก็เพียงเพื่อให้ดูว่ามีความชอบธรรม
ขอเรียนว่าถ้ามาตรการนี้ออสเตรเลียประกาศออกมาเมื่อไร จะได้รับการประท้วงอย่างหนักหน่วงจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศไทย และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องปกป้อง อุตสาหกรรมกุ้ง สินค้าที่สำคัญของประเทศ เช่นเดียวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์นม ที่รัฐบาลออสซี่ก็ให้ความสำคัญมากด้วย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวทิ้งท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ท.พ. สุรพล ประเทืองธรรม
นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย (086- 6865776)
- ม.ค. ๒๕๖๘ ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ตบเท้ายื่น จดหมายเปิดผนึกนายกตู่ ขอบคุณช่วยแก้ วิกฤติโควิด 19 ขอให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง-ตรวจเข้มสินค้าสัตว์น้ำ อาหารทะเล อาหารต่างๆ
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ฯ มอบรางวัลเกียรติคุณ “กุ้งทอง” แก่ซีพีเอฟ
- ม.ค. ๒๕๖๘ นายก ส.กุ้งไทย ชี้อุตฯกุ้งไทย ปี 60 สามารถแก้ปัญหาโรคได้ ด้วยแนวทางการจัดการการเลี้ยงที่ได้ผล การเลี้ยงโดยรวมประสบความสำเร็จ